สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ลักษณะของอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังเน้นการรับจ้างผลิตซึ่งกำไรน้อย และมักโดนผู้ว่าจ้างต่อรองขอลดราคาให้ถูกลงอีก มิเช่นนั้นจะไปจ้างรายอื่น อำนาจต่อรองน้อย หากจะทำการผลิตให้มีแบบ Lean คือให้มีคุณภาพดี มีความสูญเสียน้อยและประหยัดพลังงาน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มกำไร ผู้ประกอบการแบบนี้ที่อยู่รอดได้ก็มีจำนวนไม่มาก และแม้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทำให้เก่งขึ้น แต่หากยังรับจ้างผลิตอยู่ต่อไปอนาคตย่อมไม่สดใสเท่าไหร่
ผู้ประกอบการไทยจึงต้องทำมากกว่านั้น ต้องเปลี่ยนความคิดในการผลิต ต้องรู้ว่ากำไรการผลิตนั้นมาจากไหน ตัวอย่างเช่น บริษัทแอปเปิลผลิตสินค้าไอทีอย่างไอแพดมาจำหน่ายนั้นในราคา 400-500 เหรียญสหรัฐนั้น บริษัทแอปเปิลซึ่งเป็นผู้ผลิตมีส่วนแบ่งรายได้ 30% อีก 15% เป็นของร้านค้าปลีก (ซึ่งแอปเปิลก็ขายเองด้วยจึงได้ส่วนนี้ด้วย) บริษัทที่รับจ้างผลิตในไต้หวันได้ส่วนแบ่งเพียง 2% เช่นเดียวกับค่าจ้างแรงงานในประเทศจีนที่ได้ส่วนแบ่งเพียง 2% เช่นกัน จะเห็นว่าผู้ที่ได้ส่วนแบ่งมากคือบริษัทผู้ผลิตและร้านค้าปลีก อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นรองเท้าแบรนด์ยุโรป รายได้ส่วนใหญ่ไปอยู่ที่การจำหน่ายถึง 55% การสร้างแบรนด์ 33% และเป็นส่วนแบ่งในการผลิต 12% ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นส่วนวัตถุดิบ 8% ค่าแรงงานหรือคนเย็บรองเท้าได้ไปเพียง 0.4% เท่านั้น และผู้ผลิตมีกำไรเพียง 2% จะเห็นว่าถ้ารับจ้างผลิตอย่างเดียวจะมีส่วนแบ่งกำไรน้อยมาก แต่หากเป็นทั้งเจ้าของแบรนด์ ทำการผลิตและจำหน่ายได้เองด้วยจึงจะมีส่วนแบ่งรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งการวิจัยและพัฒนาจำเป็นต่อการออกแบบและการสร้างแบรนด์
ฉะนั้นหากจะอยู่ในโลกของการผลิตในยุคต่อไป จึงไม่สามารถรับจ้างผลิตอย่างเดียวได้ต้องมีการวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นจึงจะเป็นทางรอดระยะยาว
จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่า บริษัทที่จะอยู่รอดได้นั้น ต้องมีการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) ตัวอย่างจากบริษัทที่ทำการศึกษา บริษัทที่ประสบความสำเร็จและมีแบรนด์ของตัวเองมีสัดส่วนการทำ R&D ถึง 22% ส่วนบริษัทที่ทำการออกแบบดีไซน์มีสัดส่วนการทำ R&D 16% แต่ถ้าเป็นบริษัทที่รับจ้างผลิตอย่างเดียวซึ่งบริษัทไทยส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้และมีสัดส่วนการทำ R&D น้อยเพียง 5% เพราะฉะนั้นหากผู้ประกอบการไทยอยากจะก้าวออกจากการรับจ้างผลิตอย่างเดียวมาสู่การออกแบบ การมีแบรนด์สินค้าของตัวเองจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการทำวิจัยและพัฒนา
สมเกียรติ กล่าวว่า ทำวิจัยและพัฒนาแล้วได้ผลตอบแทนที่ดีอย่างไร ดูได้จากตัวอย่างกรณีตัวอย่าง เช่น บริษัทหนึ่งในเครือ SCG สามารถผลิตกระเบื้องลายหินจนเหมือนกับหินอ่อนจริง ๆ และขายได้ราคาดี ได้กำไรมากกว่าสินค้าทั่วไปถึง 20% บริษัทไซโจเดนกิ ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย สามารถผลิตแอร์ที่ประหยัดไฟได้ดีมาก ทำให้ได้กำไรสูงกว่าเดิมที่เคยเป็นผู้รับจ้างผลิตมากกว่า 20% ส่วนตัวอย่างบริษัทขนาดเล็กลงอย่างเช่น บริษัท ซิลิกอน คราฟ ซึ่งคนไทยอาจจะไม่รู้จัก แต่เป็นบริษัทผู้ผลิตชิปติดหูวัวส่งไปขายออสเตรเลีย บริษัทในต่างจังหวัดเช่น บริษัทพีซีเอส ผลิตท่อสำหรับฉีดน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซลได้เป็นรายเดียวในประเทศไทย โดยมีคู่แข่งที่เหลือเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลกทั่งสิ้น บริษัท ช.ทวี เป็นผู้ผลิตรถยกขนอาหารขึ้นไปลำเลียงบนเครื่องบิน Airbus 380 และมีส่วนแบ่งตลาดสำหรับรุ่น 380 ใหญ่ที่สุดในโลก เหนือบริษัทอื่นๆ ที่แข่งขันกันในตลาดโลก
จากตัวอย่างจะเห็นว่า บริษัททั้งหมดนี้ล้วนมีการทำวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้น ทำให้แบรนด์ไทยไม่น้อยหน้าใครในตลาดโลก และคนไทยมีความสามารถมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังมีจำนวนไม่มากนัก จึงต้องทำให้บริษัทของคนไทยส่วนใหญ่มีขีดความสามารถในลักษณะแบบเดียวกัน แต่อุปสรรคของผู้ประกอบการไทยจากทุกกิจกรรมทุกบริษัทที่ทีมวิจัยได้ศึกษาพบว่า มีปัญหา ขาดคน ขาดนักวิจัยพัฒนา และการจะไปขอความช่วยเหลือทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยซึ่งมีนักวิจัยในสังกัดก็ทำได้ยาก เนื่องจากเป้าหมายไม่ตรงกัน มหาวิทยาลัยเน้นการนำงานวิจัยไปตีพิมพ์ผลงานเป็นหลักอย่างที่เรียกกันว่า “ขึ้นหิ้ง” แต่ผู้ประกอบการเอกชนต้องการนำไปทำให้เป็นของขายได้อยาก “ขึ้นห้าง” มากกว่าขึ้นหิ้ง จึงเป็นความต้องการไม่ตรงกันที่ยังเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกัน
นอกจากนี้ทุกบริษัทอยากใช้มาตรการที่รัฐส่งเสริมคือ เมื่อมีการทำวิจัยและพัฒนาแล้วสามารถนำมาลดหย่อนภาษีซึ่งสามารถหักได้มากกว่าค่าใช้จ่ายทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติจริงยังใช้ได้ยากมาก บริษัทขนาดกลางและเล็กยังมีปัญหาขาดเงินทุน บริษัทที่ผลิตสินค้าก้าวหน้ามากๆ มาตรฐานสินค้าก็ยังตามไม่ทัน เช่น ผลิตเครื่องปรับอากาศบางรุ่นออกมาประหยัดไฟได้มากกว่ามาตรการเบอร์ 5 แต่จำต้องเบอร์ 5 เพราะเป็นเบอร์มาตรฐานเบอร์สูงสุดที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
สมเกียรติ ทิ้งท้ายว่า หากเราอยากให้ธุรกิจของไทย สร้างกำไร สร้างชาติ เราจะต้องฝังชิปการวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้ทุกบริษัททำวิจัยและพัฒนาให้เป็นปกติในการดำเนินธุรกิจ ประเทศไทยก็จะอยู่ได้ คนไทยก็จะอยู่ดีกินดี และแนวทางที่จะทำให้เกิดขึ้นได้สำหรับทุกๆ องค์กรนั้น ต้องเริ่มที่การเปลี่ยนความคิดว่าจะต้องทำวิจัยและพัฒนาจึงจะอยู่รอด ต้องมีการสร้างคน โดยส่วนนี้ภาครัฐจะมีบทบาทได้มาก เช่น ให้มีการเอาคนที่อยู่ในสถาบันวิจัยของภาครัฐซึ่งจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ทำวิจัยที่เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เอามาทำให้เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ก็จะช่วยทำให้ภาคธุรกิจที่ขาดแคลนคนก็มีคนมาช่วยทำงานวิจัยและพัฒนา เมื่อเติมกับเงินหรือต้นทุนที่เขามีอยู่ก็จะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้