Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ถอดบทเรียนกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองผ่านกรณีอาเจะห์และมินดาเนา

$
0
0

รายงานกระบวนการพูดคุยสันติภาพชายแดนภาคใต้ โดยมี ศอ.บต.,สมช. อาเจะห์อินโดนีเซีย และตัวกลางของมินดาเนาประเทศฟิลิปปินส์ มาร่วมแลกเปลี่ยน

แม้ว่าขณะนี้หลายเสียงในพื้นที่ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการเจรจาสันติภาพระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลเพื่อไทยนั้นได้ล่มเสียแล้ว ด้วยเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ แต่ตัวแทนภาครัฐและอดีตตัวแทน GAM ของอาเจะห์ประเทศอินโดนีเซียรวมทั้งผู้ที่เคยอยู่ในคณะตัวกลางของมินดาเนาก็ต่างบอกว่า การเจรจานั้นต้องใช้เวลา การพูดคุยสันติภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นการเริ่มต้น รัฐและประชาชนอย่าเพิ่งถอดใจ

เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2556 ทางสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ร่วมกันศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์ได้จัดประชุมรับฟังและทำความเข้าใจกระบวนการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีตัวแทนจากประเทศไทย คือศอ.บต. และสมช. และต่างประเทศซึ่งเป็นตัวแทนจาก GAM อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และตัวแทนคณะตัวกลางของมินดาเนาประเทศฟิลิปปินส์ มาร่วมแลกเปลี่ยน

ยืนยันนโยบายการพูดคุยต้องเดินหน้าต่อไป

ผศ. ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวอย่างมั่นใจว่า แม้ว่าขณะนี้จะมีการยุบสภา แต่กระบวนการเจรจาสันติภาพจะต้องดำเนินการต่อไป เพราะการพูดคุยสันติภาพได้เป็นนโยบายและมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้เสนอและรับรองจากรัฐสภาเมื่อต้นปี 2556 ที่แล้วโดยมีกรอบเวลาทำงานตั้งแต่ปี 2555 - 2557 โดยทางรัฐบาลมีภารกิจเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นต่างด้วยสันติวิธี และลดเงื่อนไขของความขัดแย้งที่เป็นสาเหตุของความรุนแรงในทุกรูปแบบและทุกกลุ่ม

รูปแบบการเจรจาไม่มีรูปแบบสำเร็จรูปและต้องใช้เวลา

ในขณะที่ Former Major General Jaakko Oksanen, Crisis Management Initiative, Marti Ahtisaari Center ผู้ที่เคยอยู่ในคณะตัวกลาง กรณีอาเจห์  กล่าวว่ากระบวนการสันติภาพในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ดังนั้นไม่มีรูปแบบการเจรจาใดที่สามารถไปใช้ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้เพื่อเลือกว่าส่วนไหนจะเหมาะสมกับพื้นที่ของตน   และต้องใช้เวลาในการปรึกษาหารือ ที่สำคัญต้องมีการติดตามว่าข้อตกลงได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหรือไม่ อย่างกรณีอาเจห์ ประธานาธิบดีอาดีซารี ยึดเป้าหมายหลักของการพูดคุย คือนึกถึงศักดิ์ศรีของประชาชนทุกคนไม่ใช่เพียงแต่คนในโต๊ะเจรจาเท่านั้น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของ  General Jakko การแถลงการณ์ภายหลังจากการเจรจานั้น ไม่ควรแถลงการณ์ถึงรายละเอียดในการพูดคุยแต่รายงานเพียงบรรยากาศของการพูดคุยเท่านั้น เช่น การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะคณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องรักษาน้ำใจของมวลชนทุกฝ่ายเพื่อให้ทุกคนพอใจกับการเจรจา และข้อตกลงใดๆ ก็ต้องมีการติดตามให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ General Jakko มองว่า คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายต้องมีเจตจำนงร่วมกันว่าทางออกคือ การคุยกัน และหวังเพื่อให้ประชาชนไม่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอีกต่อไป และต้องสร้างความไว้วางใจกันและกัน 

ด้าน Mr.Muhammad Nur Djuli, จากGAM อาเจะห์ประเทศอินโดนีเซีย มองว่า การเจรจาที่ดีต้องเริ่มที่การสร้างความเข้าใจปัญหาที่แท้จริง อย่างกรณีความขัดแย้งในอาเจห์ บุคคลที่สามมักมองว่าเป็นเรื่องเชื้อชาติ มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ต้องการปฏิวัติ ต้องการการแบ่งแยกดินแดน  แต่แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญคือ อำนาจอธิปไตย

Muhammad Nur ได้ย้ำเตือนว่า หากได้มีโอกาสสังเกตสภาพเมืองอาเจะห์ขณะนี้ก็จะเริ่มมีการพัฒนาไปในทางที่ถูกต้องโดยเริ่มมีร้านค้าที่มีสินค้าถูกๆจากประเทศจีน รถรามากขึ้น แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกขึ้น สันติภาพที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น เพราะหลังจากเซ็นสัญญาสันติภาพแล้วคนที่เคยเป็นกองกำลังติดอาวุธหลายคนต้องตกงาน เหยื่อจากความรุนแรงก็ไม่ได้รับการเยียวยาและไม่ได้รับความเป็นธรรม เด็กกำพร้าจำนวนเป็นแสนคนยังไม่มีคนดูแล ที่น่าสนใจคือ การเซ็นสัญญาเอ็มโอยูสันติภาพที่ผ่านมาแปดปีแล้วนั้นยังไม่ได้รับการปฏิบัติแต่อย่างใด

คำถามคือ เหตุใดขณะนั้น GAM จึงต้องเซ็นสัญญาสันติภาพ คำตอบคือตอนนั้นทุกคนเบื่อสงครามเหลือเกิน หรือสันติภาพได้มาเมื่อคนขี้เกียจทำสงครามแล้วหรือ  หรือว่าหลักฐานว่าการเกิดสันติภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญกว่าเพื่อให้สันติภาพยืนยงต่อไป ซึ่งเขาย้ำว่าเราจำเป็นต้องตั้งคำถามสิ่งเหล่านี้

ด้าน Prof.Abhoud Syed Ab Ghafer Tengku Mohamed  ผู้ที่เคยอยู่ในคณะตัวกลาง กรณีมินดาเนา ได้กล่าวว่า สำหรับการพูดคุยสันติภาพของประเทศไทยถือว่าเป็นการเริ่มต้นพูดคุยดังนั้นก็อย่าเพิ่งถอดใจ  เขาย้ำว่า สำหรับเขานั้นมองว่า การเจรจาเป็นวิถีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาที่ใช้อาวุธ เพราะกรณีมินดาเนาเองก็ตระหนักดีว่า การใช้อาวุธนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะยิ่งใช้อาวุธก็ยิ่งเกิดความรุนแรง และไม่มีทางออก เนื่องจากกองกำลังของมินดาเนาไม่สามารถเอาชนะกองกำลังของรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้

ทั้งนี้ Syed Lingga ได้ระบุความคืบหน้าของการพูดคุยเจรจาของมินดาเนาโดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลางว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา (วันที่ 10 ธันวาคม 2556) ได้เซ็นสัญญาลงนามภาคผนวกในการแบ่งอำนาจเสร็จสิ้นที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้เขาได้ถอดประสบการณ์การเจรจาว่า เหตุใดการเจรจาต้องใช้เวลานานนั้นเพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้ตระหนักถึงบริบทของปัญหาอย่างชัดเจน อันดับแรกการเจรจาที่สำคัญคือต้องตั้งคำถามให้ถูกต้องก่อนถึงจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด อย่างกรณีมินดาเนาที่วิเคระห์ปัญหาผิดพลาดทำให้นักวิชาการ รัฐบาลและประชาชนหลงทางมาหลายปี

เช่นเมื่อต้นปี 1960 มีการใช้อำนาจของชนชั้นนำทำให้เกิดความขัดแย้งกับมุสลิม จึงมีวิเคราะห์ว่าประชาต้องมีส่วนร่วม ทำให้มีการจัดเสวนารวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อรวมคนให้เป็นกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ คริสเตียนกับมุสลิมมีความเข้าใจกัน ในขณะที่รัฐบาลต้องการผนวกรวมคนมุสลิมให้อยู่ในกระแสหลักคือ คริสเตียน  ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องและไม่ใช่ความต้องการของคนในพื้นที่  พอสิบปีให้หลัง ก็เพิ่งรู้ว่าบังซาโมโรต้องการอำนาจในการปกครองของตนเองไม่ใช่อื่นใด

ทั้งนี้หากเรามองว่าเป็นปัญหาระหว่างมุสลิมกับคริสเตียนแล้วเราก็จะแก้ปัญหาไม่ถูกจุด คนสองกลุ่มก็จะต่อสู้กันอีก ดังนั้นกรณีมินดาเนาคนส่วนใหญ่เป็นคริสเตียน ทหารตำรวจเป็นคริสเตียน แต่ในจำนวนนั้นก็มีบรรดาทหารที่เป็นมุสลิมอยู่ด้วย

ฉะนั้นการหาประเด็นหลักของปัญหาจะช่วยให้แก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น และการเจรจาที่ดีต้องตั้งจุดประสงค์ของการเจรจาสันติภาพว่าเป็นไปเพื่อแก้ไขความขัดแย้งหรืออย่างไร มิเช่นนั้นมิอาจแก้ปัญหาที่แท้จริงได้แต่เป็นเพียงแค่ถ่วงเวลาเท่านั้น เพราะรากเหง้าของปัญหายังคงอยู่  เมื่อรู้ปัญหาแล้วก็ต้องระบุตัวแสดงของขั้วอำนาจที่อยู่เบื้องหลังต่างๆ  และออกมาพูดคุยเจรจาแบบประนีประนอม

เนื่องจากความต้องการของทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่คือ รัฐบาลต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามปกติเหมือนเดิม ส่วนคนบังซาโมโรต้องการแยกดินแดนออกมา ขณะนั้นกรอบของบังซาโมโร ได้ลงนาม ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ให้เหมือนเดิม

ฉะนั้นการเจรจากับคู่ขัดแย้งที่ไม่สมมาตรหรือไม่สมดุลนี้ต้องปรับให้อำนาจสมดุลกัน รัฐบาลต้องยอมรับอัตลักษณ์ของคนบังซาโมโร และสร้างหลักประกันว่า คนบังซาโมโรสามารถปกครองตนเองได้ ในทางกลับกันคนบังซาโมโรต้องยอมรับว่ามีคนฟิลิปปินส์อยู่ในมินดาเนาด้วย และต้องยอมรับว่าเป็นดินแดนของฟิลิปปินส์อยู่  สำหรับโครงสร้างของการเจรจานั้นต้องมีคนกลางเพื่อ อย่างมินดาเนาคือ ประเทศมาเลเซีย และกลุ่มเอ็นจีโอระหว่างประเทศเพื่อติดตามการเจรจาให้เกิดผลและไม่เกิดการละเมิด ซึ่งก็เป็นผลทำให้ความรุนแรงลดลง

สิ่งสำคัญเราต้องไม่กลัวเรื่องการพัฒนาอย่างมินดาเนาก็มีโครงการที่ให้ประชาชนมีอาหารกินอย่างเพียงพอ เอาชนะความกลัวที่เราอาจจะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือ รัฐกลัวว่ารัฐไม่อยากคุยกับกองกำลังเพราะเกรงว่าจะอีกฝ่ายจะมีสถานะอื่น กองกำลังอาจกลัวรัฐบาลจะหลอก หรือว่าถูกบังคับ หรือล่อลวงให้มีการเซ็นที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

การเจรจาที่ดี ต้องมีข้อตกลงทีดี ข้อตกลงที่ต้องตอบโจทย์ความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่และสิ่งที่ได้ต้องไม่ใช่ทางออกชั่วคราว แต่ต้องเป็นทางออกที่ยั่งยืนและที่ไม่มีความรุนแรง   

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles