สถาบันเพื่อการศึกษาด้านเทคโนโลยีตามแบบแผน (IPTS) สำรวจพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่างการบริโภคผลงานเพลงของชาวยุโรป 16,000 คน พบว่าการดาวน์โหลดและฟังเพลงออนไลน์ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจดนตรี และมีส่วนช่วยเพิ่มยอดขายเล็กน้อย ด้านสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงฯ ออกแถลงการณ์โต้
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2556 สภานักวิจัยร่วมของคณะกรรมการยุโรป (The European Commission Joint Research Centre) ได้นำเสนอรายงานผลการวิจัยเปิดเผยว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเmอร์เน็ตไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการขายเพลงที่ถูกลิขสิทธิ์
สถาบันเพื่อการศึกษาด้านเทคโนโลยีตามแบบแผน (IPTS) หนึ่งในสาขาของสภาวิจัยยุโรปฯ ได้ศึกษาผ่านพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างในอินเmอร์เน็ตซึ่งเป็นชาวยุโรป 16,000 ราย โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเวลาหนึ่งปี
นักวิจัยกล่าวในรายงานว่า ผลงานเพลงส่วนใหญ่จากกลุ่มตัวอย่างที่มีการบริโภคกันอย่างผิดกฏหมาย จะไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นหากไม่มีเว็บไซต์ดาวน์โหลดอย่างผิดกฎหมายสำหรับพวกเขา
"แม้ว่าจะมีการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้สร้างความเสียหายต่อรายได้ของการซื้อขายเพลงแบบดิจิตอลมากนัก"ทีมวิจัยกล่าว
ผลการวิจัยระบุอีกว่าการปล่อยเพลงแบบฟรีสตรีมให้ฟังบนอินเทอร์เน็ต เช่น บนเว็บ Spotify และ Pandora ยังทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วย
"จากผลการสำรวจของพวกเราพบว่า ร้อยละ 10 ของจำนวนการคลิกฟังเว็บไซต์สตรีมมิง ทำให้เกิดจำนวนคลิกซื้อเพลงระบบดิจิตอลผ่านเว็บไซต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ด้วย"ทีมวิจัยกล่าวในรายงาน
แต่ทางสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI) แสดงความคิดเห็นว่างานวิจัยชิ้นนี้มีข้อผิดพลาดและทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยพวกเขากล่าวในแถลงการณ์โต้ตอบการวิจัยในครั้งนี้ว่า ผลการวิจัยไม่ได้โยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกการค้า
"ถ้าหากคนดาวน์โหลดเพลงอย่างผิดกฎหมายส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อเพลงเลย (และยังมีการบริโภค ซึ่งในบางรายก็บริโภคเป็นจำนวนมาก) มันจึงเป็นเรื่องผิดตรรกะที่บอกว่าพฤติกรรมบริโภคอย่างผิดกฏหมายกระตุ้นให้เกิดการขายเพลงผ่านการดาวน์โหลดอย่างถูกกฏหมายและไม่ทำให้เกิดความเสียหาย"สมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงฯ กล่าวในแถลงการณ์
เรียบเรียงจาก
Music sales are not affected by web piracy, study finds, BBC, 20-03-2013