Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เสวนา: การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทีวีดิจิทัล – โอกาสหรืออุปสรรคในการปฏิรูปสื่อ ?

$
0
0



เมื่อวันที่ 3 เม.ย.56 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดเสวนาหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทีวีดิจิทัล – โอกาสหรืออุปสรรคในการปฏิรูปสื่อ ?” มีผู้เข้าร่วม อาทิ  โยสต์ พาชาลี ผู้อำนายการมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ มาร์ค ศักดิ์ซาร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท สาธิต วงศ์หนองเตย ขจิต ชัยนิคม สุภิญญา กลางณรงค์ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ สารี อ๋องสมหวัง และจีรนุช เปรมชัยพร

ในการเสวนาเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งพูดถึงสื่อสารมวลชนไทยหลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ และความคาดหวังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในการจัดสรรคลื่นความถี่

สาทิตย์ วงศ์หนองเตยอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ  กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลเป็นการเปลี่ยนผ่านในเชิงเทคโนโลยี ทั้งนี้ ที่จริงแล้วปัญหาของสื่อไทย คือการตกอยู่ใต้อำนาจรัฐเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในความเป็นจริง เราต้องการให้สื่ออยู่ใต้อำนาจที่สมดุลระหว่างภาครัฐและประชาชน  

สาทิตย์ กล่าวว่า ผลขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ในปี 2543 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้กำเนิด กสทช. รวมกับการขับเคลื่อนของภาคประชาชน นักวิชาการ มีความเข้มแข็งและมีเสียงมากขึ้น มีพลังต่อรองมากขึ้น แต่ทว่าในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนี้ยังมีจุดอ่อนที่ กสทช. เพราะด่วนตัดสินใจเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการให้ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง เพราะไทยยังไม่มีแผนการเปลี่ยนผ่าน จึงไม่มีการพูดถึงทิศทางการเปลี่ยนผ่าน ว่าทีวีดิจิทัลจะเป็นอย่างไร สัดส่วนรายการจะเป็นอย่างไร ในขณะที่อาเซียนประเทศอื่นๆ มีแล้ว

สาทิตย์เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นประตูแห่งโอกาส แต่ควรหยุดไว้ก่อน เพื่อกำหนดลักษณะของทีวีสาธารณะให้ชัดเจน  กำหนดผังรายการให้แน่นอน ไม่เช่นนั้นทีวีสาธารณะในอนาคตก็จะกลายเป็นทีวีของรัฐ  อย่างที่ทีวีและคลื่นวิทยุเคยเป็นมา คืออยู่ในมือของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ กรมประชาสัมพันธ์  อย่างไรก็ตาม การถกเถียงรูปแบบของทีวีสาธารณะก็ควรเป็นหน้าที่ของ กสทช. โดยเขาไม่เห็นว่าควรให้ใบอนุญาต 12 ใบในคราวเดียว แต่ให้ออกอากาศทดลองไปก่อน จนมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแล้ว จึงทยอยให้ใบอนุญาตอย่างน้อย 1-2 ใบก่อน  โอกาสที่จะปฏิรูปสื่อจึงจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ขจิต ชัยนิคมอดีตกรรมาธิการวิสามัญยกร่าง มองว่าการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเป็นการเพิ่มปริมาณสื่อให้หลากหลายขึ้น รวดเร็วขึ้น เป็นคุณภาพในเชิงเทคนิค สื่อพยายามพัฒนาตัวเอง น่าจะต้องใช้เวลาราว 20 ปีจึงจะได้สื่อที่มีคุณภาพ แต่ขณะนี้ไม่คาดหวังว่าจะได้สื่อที่มีคุณภาพทางเนื้อหา เช่น มีเนื้อหาสอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่ก็เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการพัฒนา เพราะเมื่อสื่อมีความหลากหลายขึ้น ก็จะพัฒนาตัวเอง ชาวชนบทเองก็นิยมรับจากสื่อทีวีมาก หากมีอุปสรรคก็น่าจะเป็นวัตถุประสงค์การนำเสนอของสื่อเอง เพราะมักนำเสนอตามความต้องการของตลาด การพัฒนาสื่อมักอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐหรือกลุ่มทุนซึ่งกุมอำนาจไว้แต่แรก

ส่วนในกรณีการให้ใบอนุญาตนั้น ขจิตกล่าวว่า ก่อนจะให้ใบอนุญาต หากดูตามเงื่อนไข จะต้องตีความว่าเงื่อนไขนั้นจะอนุญาตให้สื่อมีเนื้อหาอย่างไร เช่นเมื่อพูดถึงความมั่นคง อะไรบ้างที่ถือว่าเป็นความมั่นคง  และจะต้องนำเสนอออกไป ความมั่นคงขึ้นอยู่กับใคร คนเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิเป็นเรื่องความมั่นคงหรือไม่

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวถึงพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่บัญญัติว่าต้องมีช่องเพื่อการศึกษา เพื่อความมั่นคง จนกลายเป็นการให้อำนาจ กสทช. สูงมากที่จะตัดสินใจให้ใครได้ใบอนุญาตไป และก็ดูจะเป็นโอกาสของหน่วยงานรัฐมากที่สุดที่จะได้ เพราะมีอำนาจหน้าที่เรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการชะลอเพื่อทบทวนการให้ใบอนุญาตทั้ง 12 ช่อง แต่ควรให้มีการประมูลช่องธุรกิจไปก่อน เพราะจะช่วยลดการผูกขาดในตลาดให้เนื้อหามีความหลากหลายมากขึ้น ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น แล้วจึงมาออกแบบทีวีสาธารณะภายหลัง ซึ่งก็มีสองแบบคือ ช่องที่มีอยู่เดิม กับ ที่จะเปิดช่องใหม่เลย ส่วนช่องเดิมทั้งสาม คือ ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ก็คงต้องให้ใบอนุญาตไปเหมือนเดิม แต่ก็ควรจะมีการสร้างเงื่อนไขใหม่บ้าง  ทั้งในแง่ของผังรายการและการหารายได้  นอกจากนี้การให้ทีวีช่อง 3 ช่อง 7 และ ช่อง 9 ออกอากาศในระบบดิจิทัลโดยที่ยังไม่ต้องประมูลตอนนี้ แต่ให้ประมูลเมื่อระบบอนาล็อกสิ้นสุดลงแล้ว ก็จะเป็นการเสียโอกาสในการปฏิรูปสื่อ เพราะทั้งสามช่องจะนำเสนอเนื้อหาตามเดิม ดังนั้นแม้ว่าประชาชนจะได้ดูฟรีทีวีที่เคยดูครบ 6 ช่อง แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่จะเสียโอกาสปฏิรูปสื่อไป


ในหัวข้อเสวนา การกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล : ฉากทัศน์ และความท้าทายในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับทีวีสาธารณะและทีวีเชิงธุรกิจอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์  จากสยามอินเทลลิเจ้นท์ ยูนิต ได้ตั้งคำถามถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า "ทีวีสาธารณะ"ในระบบอนาล็อก กับคำว่า "บริการสาธารณะ"ในระบบดิจิทัล ซึ่งในอนาคตย่อมจะเกิดความสับสนระหว่างสองคำนี้ ว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่  ในส่วนของใบอนุญาตทีวีบริการธุรกิจ กสทช.ก็ยังไม่ได้ประกาศหลักเกณฑ์การตรวจสอบเนื้อหารายการและโฆษณาที่ชัดเจน การประมูลทีวีดิจิทัลจะเปิดกว้างให้กลุ่มทุนสื่อธุรกิจใหม่ๆ มากเพียงใด เพราะผู้เข้าร่วมประมูลย่อมเป็นเจ้าของสถานีดาวเทียม-เคเบิลในปัจจุบันที่มีความพร้อมอยู่แล้ว 

ในส่วนของใบอนุญาตทีวีบริการสาธารณะซึ่ง กสทช. จะจัดสรรให้ 12 ช่องนั้น  ก็ยังเกิดคำถามว่า จะคัดเลือกช่องรายการอย่างไร จะเป็นช่องที่มาจากหน่วยงานของรัฐทั้งหมดหรือไม่ อะไรเป็นตัวตัดสิน และเมื่อกำหนดไปแล้ว จะมีปัญหาการไม่สามารถหารายการมาฉายได้ตามต้องการหรือไม่ อีกทั้งโครงสร้างการประกอบกิจการสาธารณะของช่องต่างๆ ก็ยังไม่มีการกำหนดไว้ จะมีการตรวจสอบโฆษณาแฝงอย่างไร และหากช่องที่ได้ใบอนุญาตจ้างผู้ผลิตอื่นมาผลิตรายการเพื่อออกอากาศทั้งหมดเป็นไปได้หรือไม่ นอกจากนี้แล้วอิสริยะเห็นว่าตัว กสทช.เอง จะถูกตรวจสอบการทำงาน การตัดสินใจ และโครงสร้างการทำงานด้วย


ช่วงสุดท้ายเป็นการเสวนาถึงบทบาทของภาคประชาสังคมในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์จากมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า สื่อสาธารณะต้องพัฒนาความเป็นพลเมืองที่พร้อมจะรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รู้สิทธิหน้าที่ความเป็นพลเมือง กสทช.จึงต้องหาคนมากำกับดูแลให้ตอบโจทย์ว่าสาธารณะจะได้ประโยชน์อะไร จะพัฒนาพลเมืองอย่างไร จึงควรสร้างแบบให้เห็นชัดเจนว่า กสทช.จะทำอย่างไรบ้าง

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระ เห็นว่า สิ่งที่ต้องการเห็นจากการปฏิรูปสื่อ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี แต่ต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรม การจัดสรรคลื่นทีวีถือเป็นหัวใจสำคัญต่อเรื่องนี้ แต่ กสทช. กลับให้เวลาเรื่องนี้น้อยมา แค่เพียงสามเดือน และยังมีความคลุมเครืออยู่มากเช่นกัน ยังไม่มีอะไรรับรองได้ว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมจริง การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตอนนี้ก็น้อย  ไม่มีการสอบถามประชาชนก่อนกำหนดประเภทรายการสาธารณะ ที่แบ่งเป็นสามประเภทคือ ด้านการส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ด้านความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยสาธารณะ และด้านส่งเสริมความเข้าใจอันดีของรัฐบาล-รัฐสภา กับประชาชน จึงเห็นว่า ควรชะลอการให้ใบอนุญาตไว้ก่อน หันมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้มากขึ้น

สารี อ๋องสมหวังประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. เห็นว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ดูเหมือนไม่มีเป้าหมาย เนื้อหาที่จะเสนอก็ยังไม่เป็นประโยชน์ ปฏิรูปสื่อก็แค่การปฏิรูปเทคโนโลยี ยังไม่เห็นว่าทำแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร ปัญหาของทีวีตอนนี้ไม่ใช่ความคมชัด แต่เป็นเรื่องเนื้อหา จึงควรวางเป้าหมายให้ชัดเจน มาร่วมกันวางแผนว่าอยากเห็นเนื้อหาอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ กสทช. ก็ต้องเตรียมพื้นที่สำหรับองค์กรเล็กๆ ที่ไม่แสวงหากำไรซึ่งก็ต้องการทำทีวีแต่ไม่มีความสามารถที่จะขอใบอนุญาตทั้งช่อง แต่เนื้อหานอกกระแสของกลุ่มองค์กรเล็กเหล่านี้ก็ควรที่จะถูกนำเสนออกไปให้ถึงประชาชน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีพื้นที่ให้กลุ่มเหล่านี้ด้วย

จีรนุช เปรมชัยพรผู้อำนายการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่าโครงสร้างการเป็นเจ้าของสื่อโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์เป็นปัญหามาตลอด เพราะอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ สื่อจึงไม่สามารถปฏิรูปตัวเองได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาความพร้อมของภาคประชาชนเช่นเดียวกับตอนถกเถียงกันเรื่องวิทยุชุมชนในอดีตที่ผ่านมา ณ ตอนนี้ การที่ประชาชนซึ่งนิยามได้หลากหลาย จะเข้าไปมีส่วนร่วมจึงควรจะมีกระบวนการเพื่อสร้างความพร้อมหรือกำหนดเงื่อนไขการมีส่วนร่วมขึ้นมา

นอกจากนี้การกำกับดูแล กสทช. ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันการทุจริต ประชาชนต้องทำความเข้าใจการทำงานของ กสทช.ทั้งหมดซึ่งมีอำนาจสูงมากแต่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบหรือยึดโยงกับประชาชนเลย ให้มาตระหนักรู้ถึงหน้าที่และการทำผิดกฎหมายต่างๆ 

ส่วนการกำหนดเนื้อหาทีวีในระบบดิจิทัลนั้น จีรนุชเห็นว่า หาก กสทช.กำหนดสัดส่วนการออกอากาศของ 12 ช่องก็น่าจะมีระบบที่ชัดเจนว่าสัดส่วนที่กำหนดขึ้นมานั้นตั้งอยู่บนฐานข้อมูลแบบไหน นอกจากนี้ จีรนุชยังกล่าวถึงการแข่งขันของสื่อภาคประชาชน ว่า เมื่อภาคประชาชนจะเข้าไปในพื้นที่สื่อย่อมเป็นเรื่องยากที่จะไปแข่งขันกับสื่อใหญ่ๆ  ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าว่าจะแข่งขันให้ได้ เพียงแต่ปล่อยให้การแข่งขันดำเนินไปอย่างเสรีตามความสามารถของผู้ผลิต ขอให้ได้เป็นเจ้าของ มีพื้นที่ และสู้ด้วยวิธีที่ตัวเองถนัด

สมบัติ บุญงามอนงค์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงาเห็นว่าคนรุ่นใหม่ดูทีวีน้อยลง เพราะใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น แม้ดูทีวีก็ใช้ดาวเทียมมากกว่า เมื่อกล่าวถึงการทำสื่อทีวี สมบัติเห็นว่ามีสามปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ เรื่องหรือประเด็นที่นำเสนอ เทคโนโลยี และวิธีการนำเสนอ ในทั้งสามปัจจัยนี้ วิธีการนำเสนอก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นศิลปะที่จะดึงดูดให้คนมาดูทีวีได้ แต่ภาคประชาชนยังขาดไป ส่วนใหญ่มีแต่ประเด็นนำเสนอ แต่ไม่มีวิธีการที่ดี  จึงเป็นเรื่องยากที่จะแข่งกับช่องทีวีที่มีเงินทุนสูง  กสทช.จึงไม่ควรทำหน้าที่เพียงแค่จัดสรรคลื่นความถี่ แต่ต้องช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนหรือการฝึกทักษะก็ตาม 

นอกจากนี้ สมบัติเห็นว่า ไม่อยากให้การดำเนินการเรื่องนี้ใช้เวลายืดเยื้อยาวนานนัก เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็ว คนดูทีวีผ่านช่องทางอื่นก็มีมากขึ้น เช่น ดูผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือก็ได้  จึงควรเร่งให้แล้วเสร็จในเวลาที่ทีวียังมีความสำคัญอยู่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles