Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ศาลยกฟ้อง ม. 112 นักธุรกิจเชียงใหม่ กรณีขัดแย้งซื้อขายที่ดิน

$
0
0

 

13 ธ.ค.56 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1271/2553 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ฟ้องร้องนายอัศวิน (สงวนนามสกุล) ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีจำเลยกล่าวแอบอ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการติดต่อทำธุรกิจ ในช่วงปี 2546

ศาลชั้นต้นจังหวัดเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาในเวลา 9.35 น. โดยพิพากษายกฟ้องจำเลย เนื่องจากมีข้อพิรุธน่าสงสัยในพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์หลายประการ ทำให้ยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์ให้แก่จำเลย

สำหรับนายอัศวิน อายุ 64 ปี เป็นนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ และเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิชาวไทยภูเขา นายอัศวินเล่าว่าคดีนี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางธุรกิจ จากกรณีการซื้อขายที่ดินเอราวัณรีสอร์ต อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในช่วงปี 2546 โดยมีการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างทั้งสองฝ่ายในหลายคดี เขาถูกแจ้งข้อหาจากคู่กรณีทั้งข้อหาบุกรุก, ทำให้เสียทรัพย์, นำคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นต้น โดยในคดีอื่นๆ นั้น ศาลได้ทำการยกฟ้องไปหมดแล้ว เหลือแต่ข้อหามาตรา 112 และในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ จำเลยได้รับการประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์เป็นที่ดิน จำนวน 1.5 ล้านบาท

คำฟ้องคดีนี้ระบุว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 3 กรรม ได้แก่ ในช่วงระหว่างปี 2543-2546 ได้พูดกล่าวข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความองค์รัชทายาท ต่อนางมยุรา สฤษชสมบัติ ที่บริเวณอ.หางดง จ.เชียงใหม่, ในช่วงเดือนกันยายนปี 2546 ได้พูดกล่าวแอบอ้าง ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อนางกัลยา ตันมณีวัฒนา และช่วงเดือนตุลาคมปี 2546 ได้พูดกล่าวแอบอ้าง ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อนางอัญชลี นิลเดช ที่บริเวณอ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

คำพิพากษาระบุว่าข้อเท็จจริงของคดีพิจารณาได้ในเบื้องต้นว่า นางสกาวเดือน จริยากรกุล เป็นเจ้าของเอราวัณรีสอร์ต และนายมานะศักดิ์ อินทรโกมาลย์สุต เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 73/6 ในเอราวัณรีสอร์ต ในวันที่ 18 มี.ค.46 นางสกาวเดือนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างในเอราวัณรีสอร์ตให้แก่จำเลย ในราคา 120 ล้านบาท จำเลยชำระเงินให้แก่นางสกาวเดือนเป็นเงิน 12 ล้านบาท ที่เหลือจะผ่อนชำระตามสัญญา นางสกาวเดือนได้กล่าวโทษจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และรัชทายาท โดยในวันที่ 15 ธ.ค.49 จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

คำพิพากษาระบุว่าประเด็นที่ต้องพิจารณามีว่าจำเลยได้กล่าวข้อความตามฟ้องหรือไม่ โดยฝ่ายโจทก์ คือนางมยุรา สฤษชสมบัติ ให้การในชั้นสอบสวนว่าระหว่างที่จำเลยพูดหมิ่นประมาทองค์รัชทายาท มีคนอื่นอยู่ด้วย แต่บุคคลเหล่านั้นไม่ขอมาให้ปากคำ จึงไม่ขอเอ่ยชื่อ ศาลเห็นว่าหากจำเลยพูดข้อความตามที่กล่าวอ้างจริง พยานก็น่าจะบอกชื่อหรือตำแหน่งรูปพรรณของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อติดตามบุคคลเหล่านั้นมาเป็นพยาน ซึ่งอยู่วิสัยที่พยานสามารถบอกได้ แต่หาได้กระทำไม่ และเมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติม พยานกลับให้การว่าไม่ทราบชื่อบุคคลเหล่านั้น อันเป็นการชี้ให้เห็นว่าพยานให้การไม่อยู่กับร่องกับรอย จึงมีแต่คำเบิกความของนางมยุราเพียงคนเดียว ขาดพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทำให้คำเบิกความมีพิรุธ มีน้ำหนักน้อย

สำหรับนางกัลยา ตันมณีวัฒนา เบิกความว่าพยานเป็นที่ปรึกษานางสกาวเดือน ต่อมาพยานได้รับแจ้งจากนางสกาวเดือนจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในเอราวัณรีสอร์ตให้แก่จำเลย โดยพยานเบิกความว่าพยานเพิ่งพบกับจำเลยเป็นครั้งแรกประมาณเดือนกันยายน 46 และพูดคุยกันสองต่อสองเป็นเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ย่อมมีความหมายว่าพยานไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ตามปกติวิสัยวิญญูชนทั่วไป หากจะพูดข้อความในความผิดข้อหาฉกรรจ์ให้บุคคลอื่นฟัง จะพูดกับคนที่ตนสนิทสนมไว้เนื้อเชื่อใจเป็นพิเศษ ไม่พูดกับบุคคลทั่วไป เพราะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีอาญา จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จำเลยจะพูดถ้อยคำดังกล่าวให้พยานฟัง คำเบิกความของนางกัลยาจึงไม่สมเหตุสมผล

ส่วนพยานโจทก์ปากนางอัญชลี นิลเดช เบิกความว่าพยานได้รับมอบหมายจากมานะศักดิ์ ให้ช่วยดูแลบ้านและที่ดิน ประมาณเดือนกันยายน 2546 พยานพบชาวเขาเผ่าม้งหลายคน อยู่ในบ้านของนายมานะศักดิ์ โดยบอกว่าจำเลยใช้ให้มาปรับปรุงบ้าน พยานจึงแจ้งความกับตำรวจ ต่อมาเดือนตุลาคม 46 พยานและเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยในเอราวัณรีสอร์ต พบจำเลย กับพลเอกวินัย ทันศรี และพลตรีพิชัย พิชัยณรงค์ พยานถามจำเลยว่าให้คนเข้ามาทำอะไรในบ้าน จำเลยบอกว่าทำเป็นโรงเรียนของชาวเขา พยานบอกว่าทำไม่ได้เพราะบ้านเป็นของนายมานะศักดิ์ แล้วจำเลยได้แอบอ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ศาลเห็นว่าพยานกับจำเลยมีความขัดแย้งกันเรื่องชาวเขาเข้าไปอยู่ในบ้านนายมานะศักดิ์ การรับฟังพยานโจทก์ปากนี้จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง ตามปกติวิสัยของวิญญูชนทั่วไปจะไม่พูดข้อความใส่ร้ายบุคคลอื่น ให้กับบุคคลที่ตนมีความขัดแย้งฟัง หากจำเลยพูดข้อความตามที่กล่าวอ้างจริง พยานก็น่าจะแจ้งให้กับเจ้าพนักงานที่ร่วมเดินทางไปกับพยานทราบทันที ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ แต่หาได้กระทำไม่

แม้พยานเบิกความว่าจำเลยพูดถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าพลเอกวินัยและพลตรีพิชัย แต่พลเอกวินัย พยานโจทก์ เบิกความว่าพยานไม่ได้ยินข้อความตามที่นางอัญชลีกล่าวอ้าง ส่วนพลตรีพิชัย พยานจำเลย เบิกความว่าจำเลยไม่ได้พูดข้อความดังที่นางอัญชลีกล่าวอ้าง ศาลเห็นว่าพลเอกวินัยและพลตรีพิชัยเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ย่อมมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ หากจำเลยพูดข้อความดังที่กล่าวอ้างจริง พลเอกวินัยและพลตรีพิชัยจะต้องได้ยิน และต้องมีความรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำของจำเลย แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ คำเบิกความของนางอัญชลีจึงมีพิรุธน่าสงสัย

ทั้งนางมยุรา นางกัลยา และนางอัญชลี ก็มิได้เป็นผู้กล่าวโทษดำเนินคดีแก่จำเลย แต่กลับได้ความว่านางสกาวเดือน ซึ่งมีความขัดแย้งกับจำเลย และเป็นเพียงพยานบอกเล่า เป็นผู้ไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเสียเอง นับเป็นเรื่องผิดปกติ พยานบุคคลที่เหลือล้วนเป็นพยานบอกเล่า ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน และไม่มีเหตุเป็นข้อยกเว้นให้รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/3 วรรค 2 ทั้งจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้พูดข้อความตามฟ้อง

ดังนั้น ตามรูปคดีจึงมีความสงสัยว่าจำเลยได้พูดข้อความตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แก่ความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรค 2 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles