ภาคประชาสังคม ‘กลุ่มโลกสวย ปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี’ แสดงจุดยืนค้านข้อเสนอ กปปส.ให้รัฐบาลรักษาการลาออก เชื่อรัฐบาลชั่วคราวไม่ใช่ตัวแทนคนส่วนใหญ่ของประเทศ พร้อมเสนอรัฐบาลออก พ.ร.ก.ตั้งสภาเพื่อการปฏิรูปโดยประชาชนทันที มุ่งเจรจาแก้ปัญหา
12 ธ.ค.2556 กลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมในนาม ‘กลุ่มโลกสวย ปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี’ ออกจดหมายเปิดผนึกข้อเสนอทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ค้านข้อเสนอ กปปส.ที่ให้รัฐบาลรักษาการลาออก แต่เสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ตั้งสภาเพื่อการปฏิรูปโดยประชาชน เริ่มดำเนินการก่อนวันเลือกตั้ง และให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี โดยมีผู้แทนจากฝ่าย กปปส., นปช., รัฐบาล, ภาคเอกชน, ภาควิชาการ และภาคประชาชนเข้าร่วมในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกพัฒนาจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองตามประเด็นหลักการของ กปปส.และข้อเสนอของประชาชนภาคส่วนต่างๆ
พร้อมระบุการเจรจาเพื่อหาความตกลงร่วมกันโดยยึดหลักการประชาธิปไตย และสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง เป็นทางออกเดียวที่สามารถทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีความเท่าเทียมทางสังคม และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
จดหมายเปิดผนึก ข้อเสนอทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง สืบเนื่องจากการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่งภายใต้การนำของ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ “กปปส.”นั้น เราเห็นว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเป็นการเรียกร้องให้ขจัดการทุจริตในระบบการเมือง และต้องการปฏิรูปให้ระบบการเมืองของประเทศมีธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยมากขึ้น เราเชื่อว่า จิตวิญญาณของผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่หาได้ปฏิเสธเสียงส่วนใหญ่และการเลือกตั้งซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่ เฉกเช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการชุมนุมภายใต้การนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็หาได้ยืนอยู่ตรงข้ามกับการสร้างระบบการเมืองที่ปลอดพ้นไปจากการทุจริตคอรัปชั่นในทุกรูปแบบแต่ประการใด อย่างไรก็ตามข้อเสนอของ กปปส.ที่ต้องการให้รัฐบาลรักษาการพ้นไปจากหน้าที่และจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยปฏิเสธการเจรจา ในขณะที่การยืนยันให้ใช้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายใน 60 วันในการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นของรัฐบาลโดยปราศจากการดำเนินการเพื่อให้มีหลักประกันใดๆ ที่ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่ร่วมชุมนุมนั้น อาจทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองในระดับที่ร้ายแรงและอาจนำประเทศไปสู่สภาวะสงครามกลางเมืองในที่สุด เราขอแสดงจุดยืนทางการเมืองและเรียกร้องต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ 1. เราไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้รัฐบาลรักษาการลาออกเพื่อให้เกิดสุญญากาศ หรือการเว้นวรรคกระบวนการประชาธิปไตยอื่นใด โดยเชื่อว่ารัฐบาลชั่วคราวหากจะถูกตั้งขึ้นไม่อาจเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ และจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองที่ไม่มีวันสิ้นสุด 2. เราเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการให้มีการออกพระราชกำหนดจัดตั้งสภาเพื่อการปฏิรูปโดยประชาชนในทันที เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองในประเด็นหลักการที่ กปปส.ได้เรียกร้องในการชุมนุม และข้อเสนอของประชาชนภาคส่วนต่างๆ เช่น การสร้างกลไกขจัดการคอรัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการในทุกรูปแบบ การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม การสร้างการมีส่วนร่วมทางนโยบายของประชาชน การกระจายอำนาจ (โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด) การควบคุมตำรวจหรือการรักษาความมั่นคงภายใน มิให้ถูกแทรกแซงโดยนักการเมืองเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน เป็นต้น 3. “สภาเพื่อการปฏิรูป” นี้ จะต้องสามารถเริ่มดำเนินการก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี โดยมีผู้แทนจากฝ่าย กปปส., นปช. และ รัฐบาลในสัดส่วนที่สมดุล อีกทั้งต้องมีตัวแทนจาก ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชนเข้าร่วมด้วยในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยดำเนินการด้วยความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน 4. พรรคการเมืองและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องลงนามในสัตยาบัน/สัญญาประชาคมว่า จะนำข้อเสนอในการปฏิรูปการเมือง ซึ่งอาจต้องแก้รัฐธรรมนูญ การตราเป็นกฎหมาย หรือการตั้งกลไกต่างๆ ไปดำเนินการโดยเร็ว ผ่านกระบวนการของรัฐสภาชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งโดยทุกภาคส่วนต้องร่วมรณรงค์ให้วาระการปฏิรูปการเมืองเป็นวาระหลักของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น 5. ขอเรียกร้องให้ รัฐบาลและ กปปส. เจรจาอย่างเร่งด่วน และพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อให้มีความตกลงร่วมกันเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดการเผชิญหน้าและนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชน ทั้งนี้ กปปส.และพลเมืองทุกกลุ่มย่อมมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูปทางการเมืองทั้งในช่วงรณรงค์ก่อนการเลือกตั้งและหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้ว เราเห็นว่าวิถีประชาธิปไตยที่อ้างเสียงข้างมากในการตัดสินใจทางนโยบายในทุกกรณีนั้น ไม่อาจนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสันติสุขได้ การปฏิรูปการเมืองภายใต้บริบททางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่สร้างความเสมอภาคในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกกลุ่ม ตรวจสอบการใช้อำนาจ เพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการออกกฎหมาย และการกำหนดนโยบายสาธารณะ อีกทั้งต้องมีกลไกในการขจัดการผูกขาดและควบคุมตรวจสอบอิทธิพลของกลุ่มทุนและบรรษัทขนาดใหญ่ในการกำหนดนโยบายและผลักดันโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง และสร้างผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ไปพร้อมๆ กันด้วย การเจรจาเพื่อหาความตกลงร่วมกันโดยยึดหลักการประชาธิปไตย และสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง เป็นทางออกเดียวที่สามารถทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีความเท่าเทียมทางสังคม และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา คำรณ ชูเดชา จักรชัย โฉมทองดี จะเด็จ เชาวน์วิไล ชูวิทย์ จันทรส ฝ้ายคำ หาญณรงค์ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สามารถ สะกวี สุภา ใยเมือง 12 ธันวาคม 2556 |
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai