ร่างกฎหมายที่ตกตามการยุบสภา ร่างแก้ รธน. 291 , 68 และ 237 รวมทั้งกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอโดนด้วย
11 ธ.ค.2556 หลังจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากจะส่งผลให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว ยังส่งผลให้ร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก็มีอันต้องตกไปด้วย โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า นายสมชาติ ธรรมสิริ โฆษกสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า มีทั้งสิ้น 69 ฉบับ เมื่อนายกฯ ประกาศยุบสภาแล้ว ร่างกฎหมายที่อยู่ในระเบียบวาระจะถือว่าตกไปทั้งหมด รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 291, มาตรา 68 และ มาตรา 237 ด้วย
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ร่าง ค้างอยู่ในวาระ 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา
อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและมีความสำคัญ จะให้สิทธิคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยืนยันการพิจารณาร่างกฎหมายได้ แต่ในชั้นนี้ถือว่าตกไปทั้งหมด
ประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ที่ระบุว่า ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือบรรดาร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้เป็นอันตกไป
ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีมิได้ร้องขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
สำหรับร่างกฎหมายสำคัญๆ ที่ค้างอยู่ในขั้นตอนต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อาทิ
ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. .... (ประเด็นกำหนดหน้าที่ของสถาบันการเงินที่บริษัทข้อมูลเครดิตเข้ารับเป็นสมาชิก)
ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....ร่าง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
ร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ....
ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (นางสุธีรา วิจิตรานนท์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 40,542 คน เป็นผู้เสนอ)
ร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดฝาง พ.ศ. .... (นายบดินทร์ กินาวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,753 คน เป็นผู้เสนอ)
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,631 คน เป็นผู้เสนอ)
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... (นางอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,994 คน เป็นผู้เสนอ)
ร่าง พ.ร.บ.การประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ....
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... (นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... (นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
ร่าง พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ)
ร่าง พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ)
ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ปรับปรุงประเภทของหน่วยงานราชการที่ได้รับการยกเว้นภาษีประจำปีและนิรโทษกรรมภาษีประจำปีที่ค้างชำระของหน่วยงานราชการ) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่วุฒิสภามีการแก้ไข
ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ศาลฎีกาเป็นผู้เสนอ เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับผู้พิการหรือทุพพลภาพ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ... (อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ)
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ....(อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ)
ขณะที่ในชั้นวุฒิสภานั้น มีร่างกฎหมายฉบับเดียวที่อยู่ในวาระพิจารณาของคณะกรรมาธิการ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน