ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง “เรืองไกร” กรณีขอให้สั่ง “สุเทพ” ยุติชุมนุม ชี้เป็นการชุมนุมสงบ ปราศจากอาวุธ ทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรอง
11 ธ.ค.2556 สำนักข่าวไทยรายงานนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ (11 ธ.ค.) ว่าที่ประชุม มีคำสั่งไม่รับคำร้องกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและขับไล่ระบอบทักษิณ นำมวลชนกระทำผิดกฎหมายรวมตัวกันเข้ายึดกระทรวงการคลัง ทำการตัดน้ำ ตัดไฟ ข่มขืนใจเจ้าหน้าที่รัฐให้หยุดปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ เสนอระบบการปกครองใหม่ เช่น การจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ไม่ให้มีการซื้อเสียง กำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นสาเหตุให้ ส.ส.เข้ามาแสวงหาประโยชน์ การให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและ ส.ส.ได้ เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจเพื่อให้เป็นตำรวจของประชาชน ทำให้ข้าราชการอยู่ในระบอบคุณธรรมไม่เล่นพรรคเล่นพวก กำหนดให้ปัญหาพื้นฐาน เช่น การคมนาคม ความเป็นอยู่ การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ โดยจะจัดตั้งสภาประชาชนที่มาจากทุกสาขาอาชีพ สร้างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในฝันของประชาชนนั้น เข้าข่ายเป็นกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองและกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ และขอให้ศาลสั่งให้นายสุเทพ เลิกการกระทำที่จะตั้งสภาประชาชน และสร้างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในฝัน รวมถึงมีคำสั่งให้นายสุเทพเลิกกระทำการตามฐานความผิดในหมายศาลอาญาที่ 2363/2556 ที่ศาลได้มีออกหมายจับนายสุเทพด้วย
นายพิมล กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ผู้ถูกร้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ส่วนการยึดสถานที่ราชการก็ไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว และสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎรและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงไม่มีมูลกรณีเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ส่วนประเด็นคำขออื่นไม่จำต้องพิจารณา