ผลตรวจการแก้ไขสัญญาบีเอฟเคทีล่าสุด พบ สิทธิควบคุมและบริหารจัดการโครงข่าย รวมถึงสิทธิการควบคุมเครื่องและอุปกรณ์ยังเป็นของบริษัทผู้เช่า และเรียลมูฟมีสิทธิใช้ความจุถึงร้อยละ 80 จึงยังไม่สามารถสางปมผิดกฎหมาย มาตรา 46 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯ พ.ศ. 2553 ส่วนผลตรวจสอบสำนักงาน กสทช. ฟันธงชัด เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ผิดตามมาตรา 67 พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 จับตามติ กทค. พรุ่งนี้ (5 เม.ย.)
ตามที่มีข่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 5 เมษายนนี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือบอร์ด กทค. จะพิจารณาวาระการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด กรณีการทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 MHz กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งคณะทำงานของสำนักงาน กสทช. เสนอรายงานฉบับแก้ไขล่าสุดมาแล้ว หลังจากรายงานฉบับก่อนถูก กทค. ตีกลับให้ไปแก้ไขภายใต้ข้อสังเกต 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ให้หาเหตุผลสนับสนุนว่า เหตุใดจึงเชื่อว่าบีเอฟเคทีไม่มีเจตนาทำผิด และพิจารณาข้อกฎหมายว่า กทค. จำเป็นต้องร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่ 2) ให้ความกระจ่างในประเด็นที่คณะทำงานชี้ว่า การดำเนินกิจการในลักษณะให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เนื่องจากที่ผ่านมา จากยุค กทช. จนถึง กสทช. ยังไม่เคยมีแนวนโยบายหรือคำตัดสินที่ชัดเจนว่าการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ 3) ประเด็นการให้ความหมายของคำว่า “บุคคลอื่นทั่วไป” ที่ปรากฏในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และ 4) ให้รวบรวมรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และมติ กทช. ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบจากการวินิจฉัยของ กทค. เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ตามรายงานล่าสุดของคณะทำงานยังคงยืนยันว่า การดำเนินกิจการของบริษัท บีเอฟเคที เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแล้ว ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ดังนั้นบริษัทบีเอฟเคที จึงเข้าข่ายกระทำความผิดฐานประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 67 (3) แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ อันเป็นความผิดทางอาญา มีโทษทั้งจำและปรับ แต่นอกจากพิจารณาพฤติกรรมแล้ว คณะทำงานเสนอว่า กทค. ควรพิจารณาในส่วนของเจตนาประกอบด้วย หากไม่ครบทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน ก็ไม่ควรร้องทุกข์กล่าวโทษ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า ในส่วนการวิเคราะห์ผลกระทบกรณี กทค. เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะทำงานที่จะไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทบีเอฟเคที คณะทำงานก็ชี้เองว่าจะมีผล 3 ประการคือ 1) กทค. และสำนักงาน กสทช. อาจถูกกล่าวหามีความผิดฐานเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งมีโทษถึงจำคุก 2) กทค. และสำนักงาน กสทช. อาจถูกตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ เช่น วุฒิสภา ปปช. เป็นต้น และ 3) ผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้อาจฟ้อง กทค. และสำนักงาน กสทช.
นอกจากนี้ ในการประชุม กทค. เมื่อวันพุธที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ทางสำนักงาน กสทช. ยังได้นำเสนอเรื่องการแก้ไขสัญญาระหว่างบีเอฟเคทีกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ที่ กทค. มีมติสั่งให้แก้ไขเพื่อไม่ให้ขัดต่อมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่ง กทค. มีมติตั้งแต่เมื่อกลางปี 2555 โดยให้ดำเนินการใน 30 วัน แต่ต่อมา บมจ. กสท ได้ขอขยายระยะเวลาหลายครั้ง และล่าสุดมีการแจ้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 ว่ายังไม่สามารถจัดทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่คู่สัญญาได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้วและได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อยืนยันถึงเจตนาที่จะแก้ไขสัญญาต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. รายงานว่าได้พิจารณาทบทวนบันทึกความเข้าใจของคู่สัญญาแล้ว พบว่า แนวการแก้ไขสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมที่คู่สัญญาตกลงกันยังไม่ชัดเจนว่า บมจ. กสท จะมีสิทธิในการควบคุมสิทธิการใช้งานเครื่องและอุปกรณ์ของบริษัทบีเอฟเคทีอย่างสมบูรณ์ผ่าน Network Operation Center (NOC) เนื่องจากร่างสัญญาแก้ไขยังคงให้สิทธิแก่บริษัทบีเอฟเคทีสามารถปฏิบัติงานกับเครื่องและอุปกรณ์ได้ ส่วนตามสัญญาบริการขายส่งบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ HSPA คู่สัญญาได้ตกลงให้ข้อผูกพันการรับซื้อความจุสามารถรองรับผู้ใช้บริการจำลองของ บจ.เรียล มูฟ ได้ทั้งสิ้นกว่า 13.33 ล้านราย หรือใช้ความจุได้ถึงร้อยละ 80 ซึ่งทำให้การกำหนดความจุตามสัญญาดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ดังนั้นสำนักงาน กสทช. จึงเห็นว่าเงื่อนไขของข้อสัญญายังไม่ชัดเจนว่าสอดคล้องและเป็นไปตามมติ กทค.