คนจากหลากหลายอาชีพในญี่ปุ่นรวมถึงผู้กำกับสตูดิโอจิบลิ ออกมาต่อต้านกฎหมายคุ้มครองความลับของรัฐ บอกว่าเป็นกฎหมายอันตราย ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดว่าข้อมูลใดจะถูกห้ามเผยแพร่ โดยประเภทของข้อมูลครอบคลุมมากเกินไปจนอาจจะเข้าข่ายการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ
7 ธ.ค. 2556 ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 ธ.ค.) รัฐสภาของญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองความลับของรัฐ (Bill on the Protection of State Secrets) ท่ามกลางการต่อต้านของประชาชน สื่อ และนักวิชาการ ซึ่งกลัวว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
กฎหมายฉบับนี้นำเสนอโดยรัฐบาลฝ่ายขวาของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จากพรรคแอลดีพีซึ่งได้รับมติผ่านร่างจากสภาสูงไม่กี่วันหลังจากมีการผ่านร่างจากสภาล่างแล้ว
กฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้รัฐมนตรีใช้อำนาจกำหนดได้ว่าข้อมูลใดถือเป็นข้อมูลลับของรัฐไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับด้านกลาโหม การทูต การต่อต้านการจารกรรมข้อมูล และการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอาเบะกล่าวว่ามาตรการนี้จำเป็นในการป้องกันไม่ให้ข้อมูลรัฐรั่วไหลและป้องกันไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวกรองประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ โดยกฎหมายฉบับนี้ยังระบุให้มีการจำคุกมากสุด 10 ปี สำหรับผู้ที่เปิดโปงข้อมูลลับของรัฐรวมถึงผู้ที่สามารถเข้าถึงความลับของรัฐด้วยวิธีการผิดกฎหมาย
แต่นักวิจารณ์มองว่าประเภทของข้อมูลที่รัฐสามารถกำหนดตีความครอบคลุมได้แทบทุกประเภท โดยอาจรวมถึงข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสียแก่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและผู้เกื้อหนุนรัฐบาล ทำให้สามารถฉวยโอกาสปกปิดข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย นักวิจารณ์ได้ยกตัวอย่างกรณีการระงับข่าวสารเรื่องเหตุการณ์วินาศกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมาในปี 2554 และบอกอีกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีปฏิบัติการเบื้องหลังที่กฎหมายฉบับนี้จะยิ่งทำให้มีการปกปิดข้อมูลมากขึ้น
อากิ วากาบายาชิ ผู้อำนวยการองค์กรว่าด้วยความโปร่งใสสากลประจำประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า "รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ระบุชัดเจนว่าเรื่องใดที่เป็นความลับ ...กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้รัฐบาลระงับการเผยแพร่ข้อมูลจนเป็นการทำลายประชาธิปไตยในประเทศญี่ปุ่น"โดยก่อนหน้านี้อากิเคยเป็นผู้เปิดโปงเรื่องงบประมาณลับที่รัฐบาลนำไปใช้ในการเดินทาง
ในกลุ่มที่ต่อต้านกฎหมายนี้มีมากกว่า 250 คน มีทั้งดาราภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนชื่อดังจากสตูดิโอจิบลิอย่าง ฮายาโอะ มิยาซากิ กับอิซาโอะ ทากาฮาตะ รวมถึงนักข่าว นักวิจัย ทนายความ และคนมีชื่อเสียงคนอื่นๆ ในญี่ปุ่น เรียกร้องให้มีการต่อต้านกฎหมายนี้โดยบอกว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นเสรี ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นกฎหมายอันตราย
มีผู้ชุมนุมราว 3,000 คน จากกลุ่มประชาสังคมพากันเดินขบวนต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ โดยมีผู้ชุมนุมบางคนตัดต่อภาพล้อเลียนนายกฯ อาเบะ เข้ากับภาพของอดีตผู้นำนาซีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ผ่านการวินิจฉัยจากตัวแทนอิสระใดๆ ซึ่งทางนายกฯ อาเบะกล่าวว่ารัฐบาลจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบถ่วงดุลในขั้นตอนการใช้อำนาจกำหนดว่าข้อมูลใดถือเป็นความลับ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถูกระบุไว้ในกฎหมายและฝ่ายนักวิจารณ์กฎหมายนี้เกรงว่าคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลจะไม่กล้าทำอะไรที่ขัดต่อรัฐบาลเอง
สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ระบุว่ากฎหมายคุ้มครองความลับของรัฐในญี่ปุ่นเปรียบเสมือนกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายปี 2544 (PATRIOT Act) ของสหรัฐฯ และรัฐบาลของบารัค โอบามา ก็ให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้
โกลบอลโพสต์ระบุอีกว่าเนื้อหาในกฎหมายดังกล่าวนี้มีจุดที่เป็นการปิดกั้นประชาธิปไตยในแง่ของการห้ามไม่ให้มีการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน การระบุให้การ 'ยัดเยียด'แนวคิดทางการเมืองหรือหลักการต่อรัฐหรือต่อผู้อื่นเป็น 'การก่อการร้าย'และมีความขัดแย้งกับกฎหมายเสรีภาพสื่อปี 2542 ของญี่ปุ่นที่ระบุให้พลเมืองมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลได้
เรียบเรียงจาก
Diet passes controversial secrets law despite protests, Japan Today, 07-12-2013
http://www.japantoday.com/category/politics/view/diet-passes-controversial-secrets-law-despite-protests
Japan passes a democracy-muzzling Patriot Act, Globalpost, 06-12-2013
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/asia-pacific/japan/131206/japan-s-parliament-democracy-muzzling-secrecy-law