Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ไทม์ไลน์ และความเข้าใจเรื่องการประท้วง Euromaidan ในยูเครน

$
0
0

ช่วงเดียวกันนี้ เกิดการประท้วงในยูเครน โดยมีการเรียกร้องเกี่ยวกับข้อตกลงการเข้าร่วมสหภาพยุโรป ขณะที่พี่ใหญ่รัสเซียยังคงส่งอิทธิพลกดดัน การประท้วงบนท้องถนนก็เสี่ยงต่อความวุ่นวายและยังไม่หมดไปง่ายๆ

6 ธ.ค. 2556 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย. มาจนถึงในตอนนี้ ที่ประเทศยูเครนมีกระแสการประท้วงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการของประชาชนบางส่วนที่เรียกร้องให้ผู้นำประเทศเซ็นสัญญาความร่วมมือกับสหภาพยุโรป รวมถึงเรียกร้องให้มีการถอดถอนประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช หลังจากที่รัฐบาลยูเครนยกเลิกการเตรียมการเซ็นสัญญาดังกล่าวรวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีอย่างลึกซึ้งและครอบคลุม (Deep and Comprehensive Free Trade Agreement)

โดยในวันที่ 21 พ.ย. 2556 รัฐบาลยูเครนมีมติไม่ผ่านร่างกฎหมายที่จะให้มีการปล่อยตัวอดีตนายกรัฐมนตรียูเลีย ทิโมเชนโก ผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกจำคุกอยู่ในขณะนี้ ทำให้ไม่ผ่านเงื่อนไขของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปหรืออียู โดยฝ่ายรัฐบาลยูเครนให้เหตุผลว่าการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจะกระทบผลผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศและกระทบต่อความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตรวมถึงรัสเซีย

การประท้วงในยูเครนเริ่มต้นขึ้นในช่วงวันที่ 21-22 พ.ย. ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าเป็นขบวนการ ยูโรไมดาน (Euromaidan) เริ่มจากมีผู้ประท้วงราว 2,000 คนในกรุงเคียฟรวมตัวกันที่จัตุรัสไมดาน เนซาเลซนอสติ (Maidan Nezalezhnosti) หรือที่แปลว่า "จัตุรัสแห่งเอกราช"โดยชื่อจัตุรัสนี้ถูกเปลี่ยนอยู่หลายครั้งจนกระทั่งมีการเปลี่ยนเป็นชื่อดังกล่าวหลังได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต

ต่อมาการประท้วงมีการนำโดยฝ่ายค้านและพรรคการเมืองที่สนับสนุนสหภาพยุโรป จนต่อมาในวันที่ 24 พ.ย. ก็มีคนเข้าร่วมการชุมนุมราว 100,000 ถึง 200,000 คน

ดูเหมือนว่าความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้ของยูเครนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงรัสเซีย โดยช่วงต้นๆ ของการประท้วง อาเซนีย์ ยัตเซนยุค หัวหน้าพรรคฟาร์เธอร์แลนด์ในสังกัดกลุ่มการเมืองของยูเลีย ทิโมเชนโก (Yulia Timoshenko Bloc) กล่าวหาว่าประธานาธิบดียานูโควิช ได้รับเงิน 'ค่าต่อรอง'จากรัสเซียเพื่อไม่ให้ยูเครนทำข้อตกลงเข้าร่วมกับอียู

ทางด้านนายกรัฐมนตรีมิโคล่า อาซารอฟ ของยูเครนได้แถลงเกี่ยวกับเรื่องข้อตกลงกับอียูเมื่อวันที่ 26 พ.ย. โดยยืนยันว่าจะยังคงมีการเจรจาหารือด้านสัญญาความร่วมมือต่อไปและพยายามผลักดันให้ประเทศมีมาตรฐานใกล้เคียงกับคุณสมบัติที่อียูกำหนดไว้ สำนักข่าวเคียฟโพสต์มองว่านี่เป็นความพยายามของทางการยูเครนในการแสดงตนว่าอยู่ข้างเดียวกับผู้ชุมนุม

การชุมนุมดำเนินมาจนถึงวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและมีการใช้กระบองทุบตี ซึ่งต่อมาทางการแถลงว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 79 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งนักศึกษา นักข่าว ตำรวจ และชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุมตัว และทางอียูก็ออกมาเรียกร้องให้เลิกใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม


ยกระดับการชุมนุม
ต่อมาศาลปกครองกรุงเคียฟได้ประกาศห้ามไม่ให้ผู้ประท้วงใช้พื้นที่ทั้งจัตุรัสไมดาน เนซาเลซนอสติ จัตุรัสยุโรป หน้าทำเนียบประธานาธิบดี และหน้ากระทรวงกิจการภายในเป็นแหล่งชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมหันไปรวมตัวกันที่จัตุรัสเซนต์ไมเคิลในวันที่ 1 ธ.ค. และพากันเดินขบวนมายึดพื้นที่จัตุรัสไมดาน เนซาเลซนอสติคืน จนทำให้เกิดเหตุการณ์จลาจล โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ทำลายกระจกหน้าต่างของอาคารสภาเทศบาล แต่ทางผู้ชุมนุมกลุ่มหลักๆ และแกนนำก็อ้างว่าผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันมีผู้ชุมนุมบางคนนำรถเกลี่ยดินมาที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อพยายามพังแผงกั้นโดยรอบ รวมถึงมีปะทะกับเจ้าหน้าที่โดยฝ่ายผู้ชุมนุมได้ขว้างปาก้อนอิฐและระเบิดเพลิงใส่เจ้าหน้าที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาและระเบิดแสงเพื่อพยายามสลายการชุมนุม ในวันนั้นมีผู้ชุมนุมราว 100,000 ถึง 350,000 คน

ในช่วงกลางคืนของวันที่ 1 ธ.ค. มีกลุ่มก่อความวุ่นวายส่วนหนึ่งได้บุกเข้าจู่โจมเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลที่เฝ้ารูปปั้นของวลาดิเมียร์ เลนิน รวมถึงประชาชนที่เดินผ่านในละแวกนั้นรวมถึงมีการยึดรถประจำทาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา แต่ไม่นานนักก็ต้องล่าถอยออกจากพื้นที่ จากการโจมตีครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งบาดเจ็บสาหัส โดยที่กระทรวงกิจการภายในของยูเครนได้ประณามการสร้างความวุ่นวายจากกลุ่มหัวรุนแรงที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มภราดรภาพ ซึ่งมีสมาชิก 300 คน

การประท้วงยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ (6 ธ.ค.) โดยหลักๆ แล้วกลุ่มผู้ประท้วงในยูเครนมีข้อเรียกร้องต้องการให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือกับประชาคมยุโรป มีการเรียกร้องให้ผู้นำยาคูโนวิชลงจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถดำเนินแผนการยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไว้ได้


ไม่เหมือนครั้ง 'การปฏิวัติสีส้ม'
ในประเด็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมอียู ฝ่ายอียูเป็นผู้ยื่นมือเข้าหายูเครนโดยมีการเซ็นสัญญาความร่วมมือด้านการค้าเสรีและความร่วมมือทางการเมืองในปี 2555 ที่ผ่านมา แต่ข้อตกลงจะส่งผลก็ต่อเมื่อทางยูเครนยอมปรับปรุงในเรื่องประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ซึ่งกล่าวรวมถึงการกุมขังนักการเมืองของทิโมเชนโกด้วย

มีการพยายามเปรียบเทียบการประท้วงในครั้งนี้กับการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) เมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นการประท้วงต่อต้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยที่ วิกเตอร์ ยานูโควิช ถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง การประท้วงในครั้งนั้นนำโดยวิกเตอร์ ยุชเชนโก คู่แข่งการเลือกตั้งที่มีคะแนนสูสีกับยานูโควิช และยูเลีย ทิโมเชนโก ต่อมาการเรียกร้องเป็นผลสำเร็จทำให้มีการเลือกตั้งใหม่และยุชเชนโกได้รับชัยชนะในสมัยนั้น ส่วนทิโมเชนโกก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี (ในยูเครน ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกฯ)

ปัจจัยที่ทำให้การปฏิวัติสีส้มประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนชาวยูเครนต้องการความเปลี่ยนแปลงด้านเศรฐกิจและการเมือง รวมถึงคนรุ่นใหม่ชื่นชอบแนวคิดของยุชเชนโกที่พยายามผลักดันให้ยูเครนออกห่างจากรัสเซีย

แต่นักวิเคราะห์มองว่าการประท้วงครั้งล่าสุดในยูเครนต่างจากการปฏิวัติสีส้มเนื่องจากไม่มีผู้นำทางการเมืองคนใดที่สามารถสร้างอิทธิพลแก่ผู้ประท้วงได้มากเท่ายุคนั้น โดยผู้ประท้วงปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากขบวนการอ็อกคิวพาย (Occupy Movement) กับกลุ่มที่สองคือพรรคการเมืองซึ่งทำให้ดูเหมือนเป็นการประท้วงของฝ่ายค้านมากกว่าการประท้วงของสังคมโดยรวม


ผู้นำยูเครนถูกบีบคั้น
เหตุขัดแย้งทางการเมืองในยูเครนตอนนี้สะท้อนภาพของอิทธิพลระหว่างประเทศสหภาพยุโรปกับรัสเซียซึ่งมียูเครนเป็นเมืองหน้าด่าน ประธานาธิบดี ยานูโควิช กล่าวในช่วงที่มีการประท้วงว่า ยูเครนมีความประสงค์จะเซ็นสัญญากับอียู แต่ต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเนื่องจากทางยูเครนถูกกดดันโดยฝ่ายรัสเซียว่าจะมีมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจหากมีการจับมือกับอียู

ขณะเดียวกันผู้นำยูเครนก็ต้องรับมือกับการประท้วงยืดเยื้อที่ยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินและเกิดความกังวลต่อนักลงทุน ซึ่งเสี่ยงต่อการที่รัฐบาลยูเครนจะประสบปัญหาการนำเข้าและไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ทัน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินเดือน เงินบำนาญ และสวัสดิการสังคมอื่นๆ เป็นการกดดันให้ผู้นำยูเครนต้องหาความช่วยเหลือด้านการเงินจากภายนอก และผู้ที่พึ่งพาได้ก็ยังคงเหลือแต่รัสเซีย ผู้เดียวกับที่กดดันไม่ให้พวกเขาเซ็นสัญญากับอียู

ทิม แอช ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารสแตนดาร์ดในกรุงลอนดอนกล่าวว่า รัสเซียให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว โดยหวังว่าจะได้ทรัพยากรในเชิงยุทธศาสตร์อย่างการต่อท่อก๊าซ แต่ยูเครนก็ทำให้ไม่ได้มาก ทำให้รัสเซียหันมาตั้งเงื่อนไขในเรื่องการเข้าร่วมกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) แทน ซึ่งจุดนี้การประท้วงบนท้องถนนก็ยิ่งบีบให้ผู้นำยูเครนอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

 

เรียบเรียงจาก

Ukraine drops EU plans and looks to Russia, Aljazeera, 21-11-2013
http://www.aljazeera.com/news/europe/2013/11/ukraine-drops-eu-plans-looks-russia-20131121145417227621.html

Ukraine Opposition Protests Europe U-Turn, Moscow Times, 22-11-2013
http://www.themoscowtimes.com/business/article/ukraine-opposition-protests-europe-u-turn/490110.html
Ukrainian police violently eject pro-EU protesters from Kiev square, RT, 30-11-2013
http://rt.com/news/ukraine-police-disperse-protest-509/
Clashes amid huge Ukraine protest against U-turn on EU, BBC, 01-12-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-25176191
Radical protesters clash with special police unit at Lenin monument, Kyiv Post, 01-12-2013
http://www.kyivpost.com/content/kyiv/radical-protesters-clash-with-special-police-unit-at-lenin-monument-332772.html
Is New Orange Revolution Brewing In Ukraine?, Radio Free Europe, 25-11-2013
http://www.rferl.org/content/ukraine-new-orange-revolution/25179851.html
Crisis Piles Pressure On Ukraine's Fragile Economy, Radio Free Europe, 06-12-2013
http://www.rferl.org/content/ukraine-crisis-economic-fallout/25190127.html
Ukraine 'still wants to sign EU deal', Aljazeera, 29-11-2013
http://www.aljazeera.com/news/europe/2013/11/ukraine-still-wants-sign-eu-deal-20131129111345619208.html


ข้อมูลเพิ่มเติม (ทั้งหมดเข้าดูเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2556)

http://en.wikipedia.org/wiki/Euromaidan
http://en.wikipedia.org/wiki/Arseniy_Yatsenyuk
http://en.wikipedia.org/wiki/Ukraine-European_Union_relations
http://en.wikipedia.org/wiki/Orange_revolution

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles