Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนแก้ปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างอำนาจ

$
0
0

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย ด้วยการปรับโครงสร้างทางอำนาจที่รวมศูนย์รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน



6 ธ.ค. 2556 - สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 เรื่อง ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้




แถลงการณ์ ฉบับที่ 2
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
เรื่อง ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย



ตามที่ได้เกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มประชาชนเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. และเครือข่ายจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากการที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกฎหมายนิรโทษกรรมการกระทำทางการเมืองและการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยรัฐสภานั้น ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นำไปสู่การชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล โดยฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเห็นว่า รัฐบาลและรัฐสภาไม่มีความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป แม้จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าเหตุการณ์จะสงบลงได้ด้วยดี

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) ขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงครั้งนี้ทุกคนและขอขอบคุณที่ทุกฝ่ายมีความอดกลั้น จนนำไปสู่การยุติการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงเพื่อรักษาชีวิตและความปลอดภัยตามหลักสิทธิมนุษยชน และขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

ประการแรก เสียงข้างมากเด็ดขาดทางรัฐสภาอาจไม่ใช่วิถีทางแห่งสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง

ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นเนื่องมาจากประชาชนผู้คัดค้านเห็นว่ารัฐบาลมีการคอรัปชั่นทางนโยบายจากงบประมาณแผ่นดินเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องและใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการลงมติในรัฐสภา โดยไม่ถูกต้องชอบธรรม จึงต้องออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล นั้น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่า เสียงข้างมากเด็ดขาดที่จะถือว่าเป็นเผด็จการรัฐสภานั้น หมายถึงกรณีที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ดึงดันในการเสนอกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่ฟังเสียงโต้แย้งของสังคมหรือสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างน้อย เช่น กรณีรัฐบาลมุ่งมั่นจะเสนอให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ กฎหมายเช่นนี้ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในความเชื่อ มโนธรรมและศาสนา หากมีการผ่านร่างกฎหมายนี้ให้บังคับใช้ย่อมจะเป็นปัญหาของคนในชาติหลายกลุ่มที่มิได้ถือศาสนาของชาติ เป็นต้น หากรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดใช้อำนาจในการลงมติเห็นชอบให้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว หรือในกรณีการที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่การละเมิดสิทธิในชีวิตดังที่ผ่านมา ย่อมถือเป็นเผด็จการรัฐสภา เพราะการนิรโทษกรรมให้แก่การละเมิดสิทธิในชีวิตซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์ที่ไม่มีใครสามารถพรากชีวิตไปจากเจ้าของชีวิต

ประการที่สอง ความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยนั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย

การที่มีหลายฝ่ายมีข้อเสนอให้มีการคืนอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์ โดยอาศัยมาตรา 3 และมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 นั้น ข้อเสนอดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยวิถีทางประชาธิปไตย กล่าวคือ มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ในการกำหนดที่มาของอำนาจอธิปไตยและหลักการแบ่งแยกอำนาจว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงสามารถใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล โดยสอดคล้องกับหลักนิติธรรมและต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเท่านั้น มาตรา 3 มิได้ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจที่ได้รับมาจากประชาชนตามพระราชอัธยาศัย หรือมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ก็มีเจตนารมณ์เพื่อมิให้เกิดช่องว่างในตัวรัฐธรรมนูญที่หากไม่มีบทบัญญัติใดเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการดำเนินการทางการเมือง ก็ให้ใช้ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาบังคับใช้ได้ ซึ่งมิได้หมายความว่าประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะสามารถคืนอำนาจอธิปไตยของตนเอง มอบให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลแห่งชาติได้ตามพระราชอัธยาศัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจพระมหากษัตริย์สามารถดำเนินการทางการเมืองได้ตามวิถีทางประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น คือ ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา อันสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถือเป็นประเพณีการปกครองของชาติไทยมาตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา

ดังนั้นเพื่อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้

1. ให้ผู้ชุมนุมและรัฐบาลตกลงกันใช้วิถีทางประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในการแก้ไขความขัดแย้ง โดยทั้งสองฝ่ายต้องไม่ใช้ความรุนแรงหรือไม่นำมวลชนเข้าเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล  ทั้งนี้รัฐบาลควรแสดงความกล้าหาญทางทางจริยธรรมและการพร้อมรับผิด (accountability)ในวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยการยุบสภาหรือลาออกเพื่อให้สังคมยังสามารถดำรงความเชื่อมั่นในวิถีทางแบบรัฐสภา

2. ทุกฝ่ายต้องไม่สร้างความสับสนให้แก่สังคมด้วยการตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตย

3. ให้มีการปรับโครงสร้างทางอำนาจที่รวมศูนย์รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดรูปแบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนทุกภาคส่วนในการจัดทำกรอบกติกาของการปกครองประเทศ การสร้างความสมดุลในการเคารพความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยในรัฐสภา การพัฒนาสถาบันทางการเมืองและสถาบันของอำนาจอธิปไตยโดยการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและวิถีทางประชาธิปไตย

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนหวังว่าข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญที่ยั่งยืน สอดคล้องกับประเพณีการปกครองของประเทศและวัฒนธรรมทางการเมืองของชาติสืบไป

เชื่อมั่นในหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
วันที่ 6 ธันวาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles