Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เสวนา: เสียงคนใน ภาษามลายูกับสร้างสันติภาพชายแดนใต้

$
0
0

 

หลังจากการลงนามพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จนกระทั่งมีการเปิดวงคุยรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 น่าจะทำให้คนในพื้นที่ความหวังในการสร้างความสงบสุขมากขึ้น เห็นได้จากความตื่นตัวของหลายองค์กรที่ได้ออกมาเคลื่อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เช่น การเปิดเวทีสนทนาถึงกระบวนการที่เกิดขึ้น

ในส่วนของสื่อภาคภาษามลายูก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นกัน หนึ่งในความเคลื่อนไหวเรื่องนี้มีขึ้นในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ“สนามสันติภาพ : เครือข่ายการสื่อสารภาคประชาสังคม”เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเล็กมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ซึ่งจัดโดยเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ที่มีหนึ่งในข้อเสวนาคือ “เสียงของคนใน : ภาษามลายูในโลกแห่งการสื่อสาร”

ต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมเสวนาในเวทีดังกล่าว โดยมีโจทย์สำคัญคือ ภาษามลายูจะมีส่วนในการสร้างสันติภาพได้อย่างไร โดยมีความเห็นที่หลากหลายดังนี้

เริ่มจากนายมูหามะสอและ วาเด็ง นักจัดรายการวิทยุภาษามลายูในจังหวัดยะลา ที่ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีการติดตามสื่ออย่างมาก โดยเฉพาะโทรทัศน์และวิทยุ แต่ที่ผ่านมา ทั้งผู้ดำเนินการรายการวิทยุและโทรทัศน์ในพื้นที่กลับไม่มีความเป็นมืออาชีพ เนื่องจากไม่มีกระบวนการคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินรายการ

นายมูหามะสอและ กล่าวว่า ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาในอนาคต จะต้องดำเนินการ ดังนี้ 1.ต้องสร้างหน่วยงานควบคุมผู้ดำเนินรายการ 2.คนที่จะมาเป็นผู้ดำเนินรายการจะต้องผ่านกระบวนการฝึกอบรม 3.ผู้ดำเนินรายการจะต้องปรับตัวตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงของโลก

“ส่วนจะให้สื่อภาคภาษามลายูในพื้นที่มีบทบาทอย่างไรในการสื่อสารเพื่อให้เกิดสันติภาพนั้น ผมคิดว่า ต้องดำเนินการดังนี้ 1.ผู้ดำเนินรายการวิทยุและโทรทัศน์ ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านภาษามลายู เพื่อไม่ให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด 2.ต้องมีเป้าหมายอย่างชัดเจนในเรื่องสื่อสาร 3.ผู้ดำเนินรายการต้องนำคำศัพท์ภาษามลายูใหม่ๆ มาใช้พร้อมๆ กับการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจและคุ้นเคยกับคำศัพท์ใหม่ๆเหล่านั้น โดยเฉพาะคำศัพท์เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง” นายมูหามะสอและ กล่าว

นายมูหามะสอและ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเปิดกว้างเรื่องสื่อของคนประชาชนพื้นที่ ซึ่งสื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือวิทยุ จึงคิดว่ารัฐบาลควรใช้โอกาสนี้นำเสนอสิ่งต่างๆแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

“ปัจจุบันมีวิทยุเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นรายการในเชิงเผยแพร่ศาสนา ส่วนใหญ่นำเสนอในแง่มุมต่างๆ ของศาสนา ผมคิดว่าวิทยุควรเสนอเรื่องอื่นๆ ในลักษณะให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ มากกว่าเสนอในลักษณะที่ทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดในเรื่องศาสนา”

นางสาวรอฮานี ดาโอ๊ะ นักจัดรายการวิทยุเสียงผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวว่า เดิมจัดรายการด้วยภาษาไทย ต่อมาผู้ฟังเรียกร้องให้ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นด้วย เพื่อให้คนในพื้นที่ได้เข้าใจ และคิดว่าถึงเวลาที่ต้องจัดรายการเป็นภาษามลายูแล้ว หลังจากใช้ภาษามลายูปรากฏว่ามีผู้ฟังเพิ่มขึ้น และมีการโทรศัพท์เข้ารายการมากขึ้น แต่ก็ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นที่คนในพื้นที่เข้าใจได้ง่าย

สิ่งที่อยากเห็นคือ อยากให้วิทยุและโทรทัศน์ในพื้นที่มีรายการที่หลากหลายมากกว่าปัจจุบัน เช่น มีรายการเกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิงหรือครอบครัว เป็นต้น เพื่อให้พื้นที่กลางในสื่อสารเรื่องราว อีกทั้งเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆด้วย

“อยากให้มีสื่อที่เป็นของชุมชนในพื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่กลางการสื่อสารระหว่างคนมุสลิมกับคนไทยพุทธ เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารต่อคนนอกพื้นที่ ถึงเรื่องการอยู่ร่วมกันคนไทยและมุสลิมในพื้นที่”นางสาวรอฮานี กล่าว

อาจารย์การ์ตีนี วาโด อาจารย์ประจำหลักสูตรภาษามลายู มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา กล่าวว่า การใช้ภาษามลายูในสื่อ จำเป็นต้องใช้ภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานีควบคู่กับภาษามลายูกลาง เช่นใช้ภาษามลายูท้องถิ่น 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ใช้ภาษามลายูกลาง

“การใช้ภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานีในสื่อ เพื่อการอนุรักษ์ไม่ให้ภาษานี้หายไป ส่วนการใช้ภาษามลายูกลางเพื่อเตรียมรับการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเป็นการสื่อสารกับคนที่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งใช้ภาษามลายูประมาณ 300 ล้านคน”

“ส่วนการใช้ภาษามลายูกลาง จะใช้แบบอินโดนีเซียหรือภาษามาเลเซียก็ไม่มีปัญหา ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการศึกษาของผู้ดำเนินรายการ ถือว่าเป็นการเรียนรู้ภาษาของผู้ฟังและผู้ชม”

“ส่วนเรื่องภาษาเขียน คิดว่าเราควรเขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวี(อักษรอาหรับ)ควบคู่กับภาษามลายูอักษรรูมี(อักษรโรมัน) เนื่องจากอักษรยาวีเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ส่วนอักษรรูมีเป็นการสื่อสารกับคนในประชาคมอาเซียน 300 ล้านคน เพื่อให้พวกเขาเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ” อ.การ์ตีนี กล่าว

นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าวพิเศษสำนักข่าวอามาน กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้เปิดกว้างเรื่องสื่อแก่คนในพื้นที่ เพื่อให้มีพื้นที่ในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ออกไป แต่ที่ผ่านมาคนทำสื่อในพื้นที่กลับเป็นคนที่ไม่ชำนาญภาษามลายู ส่วนคนที่ชำนาญภาษามลายูกลับไม่มาทำสื่อ แถมยังชอบวิจารณ์คนทำสื่อภาษามลายูด้วย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่คนชำนาญภาษามลายูต้องออกมาทำสื่อด้วย เพื่ออนุรักษ์และขับเคลื่อนภาษามลายูบนพื้นฐานที่ถูกต้องตามหลักภาษา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles