'ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์'เขียนบทความลงวอลล์สตรีเจอนัล และเดอะ การ์เดียน ถึงวิธีการที่ยิ่งลักษณ์จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ชุมนุมล่าสุด และมองว่าความขัดแย้งระหว่างฝ่ายหนุนระบอบเลือกตั้งกับฝ่ายหนุนวาทกรรมเชิงศีลธรรม ยังสามารถหาจุดร่วมที่ทำให้ประเทศชาติสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้
3 ธ.ค. 2556 ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมที่ดูเหมือนจะยังไม่มีทางออกในปัจจุบัน ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีบทความเชิงวิเคราะห์การเมืองในสื่อต่างชาติได้กล่าวถึงเหตุการณ์ผ่านสื่อวอลล์สตรีทเจอนัล และสำนักข่าวเดอะ การ์เดียน
ในบทวิเคราะห์ของวอลล์สตรีทเจอนัลมีการเล่าถึงต้นตอตั้งแต่ความพยายามออกกฏหมายนิรโทษกรรมซึ่งจะทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พ้นจากความผิด แต่ต่อมาการประท้วงต่อต้านการนิรโทษกรรมก็ถูกโยงให้กลายเป็นการต่อต้านทักษิณ ขระเดียวกันก็ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงรู้สึกถูกทรยศเนื่องจากกฏหมายนิรโทษกรรมก็ทำให้กลุ่มคนที่เคยปราบปรามพวกเขาอย่างรุนแรงในเดือน พ.ย. 2553 พ้นผิดด้วย
ในวอลล์สตรีทเจอนัลยังได้มีการกล่าวถึงการที่สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำการประท้วงอ้างว่าผู้ประท้วงมีแรงจูงใจจากการที่พรรคเพื่อไทย "ปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ"จากการวินิจฉัยการแก้กฏหมายเรื่องที่มาของ ส.ว.
ฐิตินันท์มองว่าทางออกของประเทศไทยจากวิกฤตินี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยคิดว่ายิ่งลักษณ์ควรออกมาขอโทษในเรื่องกฏหมายนิรโทษกรรม ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และอาจแก้สถานการณ์ด้วยการประกาศเลือกตั้งล่วงหน้าช่วงกลางปี 2557
ขณะที่บทวิเคราะห์ในเดอะ การ์เดียนระบุว่าวิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ว่าแม้จะชวนให้นึกถึงการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่เชื่อว่าเป็นตัวแทนของทักษิณเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่ก็มีพัฒนาการมากขึ้นและเป็นช่วงสำคัญที่คนไทยจะได้เรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยไปด้วยกัน
โดยการประท้วงเมื่อ 5 ปีก่อน มีการยึดสนามบิน มีคำสั่งตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค จนกระทั่งพรรคประชาธิปไตย์ขึ้นมามีอำนาจได้ แต่เมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ก็ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก อย่างไรก็ตามวิกฤติในครั้งนี้ถือว่าดีกว่าครั้งก่อนๆ เพราะยังไม่มีการปิดสนามบิน และทหารก็ยังไม่ออกมาแทรกแซง
มีการกล่าวถึงการพยายามต่อต้าน "ระบอบทักษิณ"ในบทวิเคราะห์ของฐิตินันท์ว่า เป็นการที่ผู้นำการชุมนุมอาศัยความรู้สึกผิดหวังต่อระบอบการเลือกตั้งและอ้างว่ามีการใช้เงินเพื่อช่วยหาเสียง ทำให้มีการเรียกร้องหา "คนดี"ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทนที่ และดูเหมือนว่าการชุมนุมในครั้งนี้ก็คงไม่ใช่สถานการณ์เสี่ยงครั้งสุดท้ายของความพยายามถ่วงดุลอำนาจความชอบธรรมระหว่างฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
"ประเทศไทยกำลังเผชิญการทดสอบครั้งสำคัญในประเด็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย มีการทดสอบว่าระบบการถ่วงดุลอำนาจทำงานได้ดีจริงหรือไม่ อย่างไร"ฐิตินันท์ กล่าวในบทความ "ขณะที่ฝ่ายหนุนการเลือกตั้งได้รับความชอบธรรมจากเสียงส่วนใหญ่และเป็นที่ยอมรับในสายตานานาชาติ แต่ฝ่ายที่ไม่นิยมการเลือกตั้งก็หันมาเน้นในเรื่องศีลธรรม จริยธรรม และแนวคิดเชิงอุปถัมภ์"
บทวิเคราะห์ในเดอะ การ์เดียนระบุอีกว่า ฝ่ายสนับสนุนทักษิณและยิ่งลักษณ์มองว่านักการเมืองที่มาจาการเลือกตั้งจะสามารถทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้แม้ว่าจะมีการคอร์รัปชั่น ซึ่งมีให้เห็นเป็นปกติและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายผู้ประท้วงมีอุดมคติอยากให้มีชนชั้นนำผู้เชี่ยงชาญผู้ไม่โกงแต่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง
บทความของฐิตินันนท์มองในแง่ดีว่าในอนาคตกลุ่มอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องแสดงออกให้เห็นถึงความมีศีลธรรมไปพร้อมกับความสามารถด้านนโยบายพวกเขาต้องเสริมความเชื่อมั่นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด ขณะที่ฝ่ายที่มาจากการแต่งตั้งเองก็ควรทำให้ตนได้รับความชอบธรรมจากประชาชนเสียงข้างมากที่มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น
"นี่หมายความว่าพรรคเพื่อไทยของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ จะต้องหันมาสนใจความทุกข์ของเสียงข้างน้อย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ควรยกเครื่องความเป็นผู้นำและแนวคิดนโยบายใหม่หมดเพื่อให้มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง"ฐิตินันท์กล่าว
บทวิเคราะห์ระบุอีกว่า ในอนาคตยังควรมีการส่งเสริมให้พรรคเล็กๆ เป็นทางเลือกที่ 3 ที่ 4 ได้มีโอกาสในสนามเลือกตั้ง และประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาไปข้างหน้าในขณะที่มีการผสมผสานกันระหว่างฝ่ายอำนาจจากการเลือกตั้งและฝ่ายอำนาจในเชิงจริยธรรมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
เรียบเรียงจาก
A People's Coup by Thailand's Minority, Wall Street Journal, 01-12-2013
Thailand's great political divide, The Guardian, 02-12-2013
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai