Book Re:public จัดดีเบต “ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยากไร้” อาจารย์ มช.ไม่เชื่อทุนนิยมเป็นประโยชน์กับคนจน ส่วนอาจารย์เศรษฐศาสตร์ ม.จ.ธ.ชี้ทุนนิยมแก้ปัญหาจากภายในระบบเองได้ ผ่านกระบวนการด้านเศรษฐกิจ และการเมืองต่างๆ
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2556 ที่ผ่านมา ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดดีเบตในหัวข้อ “ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยากไร้” โดยมีวิทยากรแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กับ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนนักแปลอิสระ และ แบ๊งค์ งามอรุณโชติ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ภาพจากเพจ Book Re:public
เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ กล่าวว่าถ้าพิจารณาทุนนิยมในฐานะที่เป็นระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยมคือความสัมพันธ์ของการผลิต คือความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน ในความสัมพันธ์ทางสังคมชุดหนึ่งที่แน่นอน ลักษณะที่สำคัญคือผู้ผลิตหรือแรงงานจะถูกแยกออกจากการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต จึงทำให้มีคนจำนวนหนึ่งที่ใช้แรงงานตนเองในการผลิต แต่ไม่ได้มีปัจจัยการผลิต และมีคนจำนวนหนึ่งที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เรียกว่านายทุน
หลักการสำคัญที่ใช้ในการแยกนี้ คือแนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล โดยอะไรที่คุณเป็นเจ้าของ แล้วคุณเอาไปลงทุน เมื่อผลิตได้ คนที่เป็นเจ้าของ ก็จะได้สิ่งๆ นั้นกลับไป ส่วนแรงงานเป็นเจ้าของแต่เพียงร่างกายหรือกำลังแรงงานของตนเอง ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ลักษณะนี้จึงแบ่งแยกผู้คนออกจากกัน
แต่ถ้าพูดถึงทุนนิยมในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมหรืออุดมการณ์ ระบบทุนนิยมพูดถึงการที่แรงงานยอมรับว่าตนเองเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ที่ขายในตลาดได้ มันต้องมีการผลิตซ้ำความคิด ความเชื่อบางอย่างว่าการที่เราขายตัวเองเป็นสินค้าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้ว และมีคนจำนวนหนึ่งที่จะได้ผลผลิตจากกำลังแรงงานของเรา เช่น การผลิตความเชื่อในวัฒนธรรมของการแข่งขัน เชื่อว่าการแข่งขันนำมาซึ่งความก้าวหน้า และการพัฒนา
เก่งกิจอธิบายถึงความหมายของแรงงานของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบ คือแรงงานที่เข้าไป
เร่ขายแรงงานของตน เพื่อเงินเดือน ซึ่งมาร์กซ์เรียกว่า “แรงงานที่มีชีวิต” (living labor) นอกจากนั้นทุนยังเป็นเจ้าของ “แรงงานที่ตายไปแล้ว” (dead labor) เช่น ที่ดิน เครื่องจักร ความรู้ ฯลฯ โดยตามแนวคิดของมาร์กซ์ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนใช้แรงงานของมนุษย์ในการผลิตขึ้นทั้งสิ้น แต่เรามักมองไม่เห็นว่าสิ่งต่างๆ ล้วนมีแรงงานของมนุษย์สร้างขึ้น ในการผลิตสินค้าประเภทหนึ่งจึงต้องผสมระหว่างแรงงานที่ตายไปแล้วกับแรงงานที่มีชีวิต โดยทั้งสองอย่างมามีปฏิสัมพันธ์ในการผลิตในโรงงานหรือแหล่งผลิต
ส่วนที่มาของมูลค่านั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าของสองอย่างมันแลกเปลี่ยนกันได้ ทั้งที่มีความแตกต่างกันทางกายภาพ ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมได้ใช้เวลาในการทำงานเป็นตัววัด เช่น เวลา 8 ชั่วโมง ได้ค่าแรง 300 บาท นายทุนจะคำนวณจากต้นทุนในการผลิต นายทุนก็พยายามให้แรงงานใช้เวลา 8 ชั่วโมง แล้วผลิตได้เพิ่มขึ้น โดยค่าแรง 300 เท่าเดิม มูลค่าจึงเกิดจากแรงงานของมนุษย์ และเราวัดมูลค่าได้ด้วยเวลาที่ใช้ในการทำงาน
ในสมการของทุนกับแรงงานนี้ ทั้งสองอย่างมีเป้าหมายแตกต่างกันสิ้นเชิง ทุนมีเป้าหมายจริงๆ คือการสร้างกำไรและการสะสมทุน คนที่เป็นเจ้าของทุนต้องการมากกว่าต้นทุนที่เขาลงไป นั่นก็คือกำไร เมื่อได้กำไร ก็เอามาลงทุนอีก เพื่อขยายกำไรหรือสะสมทุนไปเรื่อยๆ อันนี้คือแรงผลักของนายทุนทั้งหมด
สำหรับแรงงานนั้น ไม่ได้มีปัจจัยการผลิต แต่มีกำลังแรงงานของตัวเองในฐานะที่เป็นสินค้าในตลาด ขายแรงงานเพื่อแลกกับเงิน เมื่อได้เงินก็นำไปกินไปใช้ และมาขายแรงงานใหม่ เป้าหมายของแรงงานจึงไม่ใช่กำไร แต่คือการจะมีชีวิตอยู่ได้ในวันรุ่งขึ้น หรือการผลิตซ้ำกำลังแรงงานของตนเอง (reproduction)
ฉะนั้นเป้าหมายของทุนและของแรงงานมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในความสัมพันธ์ชุดนี้ ทุนมีความจำเป็นต้องขูดรีดแรงงานให้ได้มากที่สุด กำไรจึงมาจากการบิดเอากำลังแรงงานมาจากร่างกาย จากสมองของแรงงานหรือมนุษย์ให้ได้มากที่สุด ในเวลาที่น้อยที่สุด สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “การขูดรีด” (exploitation)
พัฒนาการของระบบทุนนิยมโดยย่อๆ ในมุมมองของมาร์กซ์นั้น การเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมมิใช่เกิดโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากแรงงานของมนุษย์ถูกแยกออกจากปัจจัยการผลิต ผ่านการบังคับหรือใช้กำลังข่มขู่เพื่อทำให้เกิดขึ้นเป็นแรงงาน เช่น ในอังกฤษมีการล้อมรั้วเพื่อไล่ชาวนาจากที่ดินที่เคยมี กลายเป็นแรงงานรุ่นแรกๆ ของระบบทุนนิยม
ส่วนทุนในยุคอุตสาหกรรม ทุนต้องบีบรีดเอากำลังแรงงานออกมาให้ได้มากที่สุด ในเวลาที่จำกัด จึงมีการควบคุมกระบวนการผลิต เช่น เอาคนคุมงานไปควบคุมทุกๆ ส่วนของการผลิต และทุนนิยมยุคปัจจุบันเป็นทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ งานของ Harvey ได้พูดถึงหัวใจของการสะสมทุน คือการสะสมทุนโดยปล้นชิง เมื่อทุนเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ ทุนก็จะปรับตัว โดยการขยายเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของทุน แล้วเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้เป็นสินค้า เพื่อสร้างกำไรใหม่ จากวิกฤติปี 70 ทุนปรับตัวโดยการใช้แนวนโยบายหลายอย่าง ทั้งการแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชน (Privatization) กลไกการควบคุมแบบใหม่ เช่น การขูดรีดโดยการทำให้กลายเป็นหนี้ (Financialization) หรือการลดบทบาทของรัฐ (Deregulation) จากเดิมที่รัฐเคยเป็นกลไกที่เชื่อว่าจะแก้ไขความล้มเหลวของตลาด และการแปรสิ่งที่เป็นสมบัติส่วนรวมหรือเป็นของรัฐ เป็นบริการสาธารณะ ที่ไม่เคยเป็นสินค้ามาก่อน ล้วนแต่ถูกเปลี่ยนให้เป็นสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือพลังที่ผลักดันระบบทุนนิยมในปัจจุบัน
ถ้ามองวิกฤตของระบบทุนนิยมจากกรณีอเมริกา จะพบว่ารายได้ที่แท้จริงหรือค่าแรงของคนระดับล่างลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ 1970 เป็นต้นมา แต่ระบบการผลิตยังคงอยู่ หมายความว่ากำไรที่นายทุนจะสะสมได้จะยิ่งเพิ่มขึ้น เอาส่วนที่เหลือไปเยอะขึ้น มันทำให้เกิดภาวะการสะสมทุนที่มากเกินไป (over-accumulation) โดยในสมการของทุน ยิ่งได้กำไรเยอะ ยิ่งทำให้เกิดวนกลับไปลงทุนใหม่มากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสองประการ คือเกิดการผลิตที่ล้นเกิน และการไม่สามารถที่จะบริโภคได้ของผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ
ส่วนแนวโน้มของการแก้ไขวิกฤติของระบบทุนนิยมทำได้สองอย่าง คือการจัดการพื้นที่ และการจัดการเวลา การจัดการพื้นที่ก็คือการขยายตลาด หาคนซื้อสินค้าของตนให้ได้ หรือถ้าค่าแรงสูง ทุนก็ขยายไปหาแรงงานราคาถูกในที่ต่างๆ ของโลก ส่วนการจัดการเวลา เช่น การทำให้เวลาการทำงานยืดหยุ่น อย่างการผลิตที่บ้าน การทำพาร์ตไทม์-ฟรีแลนซ์ หรือการจัดการเวลาในชีวิตมนุษย์ใหม่ เพื่อให้ทุนสามารถเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจได้ โดยสรุปการแก้ปัญหาของทุนนิยม คือการเปลี่ยนสิ่งที่ไม่เคยเป็นสินค้าให้กลายเป็นสินค้า
เก่งกิจถามคำถามทิ้งท้าย ว่าจริงๆ แล้วสังคมไทยเราเป็นสังคมเกษตรหรือสังคมแรงงาน หากดูตัวเลขผู้ประกันตนซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ล้าน (2554) สะท้อนว่าเราเป็นสังคมอุตสาหกรรม ที่กำลังแรงงานส่วนใหญ่ ถูกขูดรีดในระบบทุนนิยม และตนไม่เชื่อว่าระบบทุนนิยมจะเป็นประโยชน์กับผู้ยากไร้ ระบบอาจจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น แต่ว่ามันก็ขูดรีดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
ภาพแสดงโครงสร้างของระบบทุนนิยมของโลก
แบ๊งค์ งามอรุณโชติ กล่าวว่าองค์ประกอบของทุนนิยมหลักๆ มีสามส่วน ได้แก่ หนึ่ง สินค้าเอกชน ทุนนิยมมีความสามารถในการแปลงสรรพสิ่งให้กลายเป็นสินค้าเอกชน สอง ก็คือการใช้กลไกตลาดหรือกลไกราคาในการจัดสรรสินค้า และสาม คือมันเป็นระบบที่เน้นการสะสมทุน และขยายเพิ่มมูลค่าของทุน องค์ประกอบทั้งสามไม่ได้มีปัญหาในตัวมันเอง แต่ปัญหาของทุนนิยมเกิดจากการที่สามอย่างนี้มีลักษณะสุดโต่ง ในการนำไปใช้ภาคปฏิบัติ
ปัญหาประการแรกคือการทำให้เป็นทรัพย์สินเอกชนอย่างสุดโต่ง ในงานของ Michael Heller กล่าวถึงลักษณะอันสุดโต่งของกรรมสิทธิ์เอกชน โดยคุณสมบัติสำคัญของสินค้าเอกชน คือการกีดกันคนอื่นออกไป ทั้งที่สินค้าบางตัวควรจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น ยา ความรู้ ฯลฯ เมื่อกลายเป็นสินค้าเอกชน สินค้าก็ต้องถูกจำกัดและกีดกันจากคนจำนวนมาก ทำให้คนเข้าไม่ถึงยา ทำให้เกิดเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่และผูกขาด นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนจึงเสนอเรื่องโศกนาฏกรรมของสินทรัพย์ส่วนรวม (tragedy of common) คือสินทรัพย์ประเภทนี้จะถูกใช้และพังทลายก่อนสินทรัพย์ประเภทอื่น
ปัญหาประการที่สองคือระบบตลาดที่มันสุดโต่ง ในหนังสือของ Michael Sandel (2013) พูดถึงขีดจำกัดของตลาด เช่น กรณีอภิสิทธิ์ชนในคุก โดยนักโทษสามารถใช้เงินซื้อบริการที่ดีกว่าได้ หรือกรณีบริษัทใช้แรงงานคนงานหนักมาก แต่เลี่ยงความเสี่ยงโดยทำประกันชีวิตให้แรงงานด้วย แต่คนที่ได้ประโยชน์คือบริษัท คำถามคือเราจะยอมให้ตลาดทำถึงขั้นนั้นได้ไหม
ประการที่สามคือการเน้นสะสมทุนและขยายมูลค่าเพิ่ม ทำงานอยู่บนฐานความรู้บางอย่าง คือการทำให้หน่วยผลิตมีต้นทุนต่ำสุด และมีกำไรสูงสุด การกดต้นทุนส่วนหนึ่งทำผ่านการกดค่าจ้างแรงงาน ภาษาฝ่ายซ้ายก็อาจเรียกว่าการขูดรีดแรงงาน มีทั้งการขูดรีดภายใน ผ่านการจ่ายค่าจ้างต่ำๆ และการขูดรีดภายนอกบริษัท ผ่านการสร้างตลาดแข่งขันแบบผูกขาด ทำลายคู่แข่งอื่นๆ ที่เป็นนายทุนด้วยกันด้วย เพื่อสร้างกำไรสูงสุด ทุนนิยมจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อทุนด้วยกันเองด้วย และไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยากไร้ แต่มันสร้างผู้ยากไร้ขึ้นมาเลยต่างหาก
เมื่อระบบแบบนี้บวกกับโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ ทำให้เกิดการผูกขาดข้ามชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือบริษัทไม่กี่บริษัทครอบครองตลาดสินค้าทั้งหมด ทำให้แต่ละบริษัทมีลักษณะที่ใหญ่กว่ารัฐชาติด้วยซ้ำ การจัดการภายในบริษัทเหมือนระบบราชการโดยตัวมันเอง มีลำดับชั้นภายในต่างๆ
นอกจากนั้นเวลาพูดถึงทุนนิยม ไม่ใช่เรื่องในปริมณฑลของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่มีด้านของความเป็นการเมืองด้วย เมื่อพูดว่าทุนนิยมผูกขาดมันสร้างจำนวนผู้ยากไร้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ยากไร้เหล่านี้ยังเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในทางการเมือง มีส่วนกำหนดวาระทางการเมือง ในอุดมคติจะทำให้เกิดพรรคแรงงานในหลายประเทศ เพื่อควบคุมทุนอีกทีหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติ กลับนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน การฮั้วกันระหว่างรัฐกับทุน ไม่ว่าพรรคฝ่ายซ้ายหรือขวาเป็นรัฐบาลก็ตาม ถึงที่สุดต้องยอมให้กับกระแสเสรีนิยมใหม่ ที่มีพลังมากผ่าน WTO
ปัญหาของทุนนิยมที่คนจำนวนมากพูดถึงเหล่านี้ หรือฝ่ายซ้ายตระหนักและต้องการก้าวข้ามไปสู่ระบบใหม่ ตัวนักเศรษฐศาสตร์ที่ยังเชื่อมั่นในทุนนิยมเอง ก็เห็นเช่นกัน แต่ความแตกต่างสำคัญคือเขาเชื่อว่ามันแก้ได้ และแก้ไขได้ภายในระบบทุนนิยมเอง
หลายคนชี้ให้เห็นว่าระบบทางเลือกเท่าที่มีอื่นๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาน้อยไปกว่ากัน ในงานของ Erik Wright กล่าวว่าเวลาพูดถึงระบบทางเลือกที่ไม่ใช่ทุนนิยมอื่นๆ สิ่งที่ต้องคิดสองเรื่อง คือเราจะไปถึงมันได้ไหม และจะสามารถรักษาระบบนั้นไว้ได้ไหม ปัญหาของระบบอื่นๆ คือแม้จะไปถึงได้ แต่ไม่สามารถรักษาลักษณะสำคัญของระบบนั้นๆ ไว้ให้ยืดยาวต่อไปได้
แบ๊งค์กล่าวว่าตนคิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาจากภายในระบบทุนนิยมเองได้ ผ่านกระบวนการด้านเศรษฐกิจ และการเมืองต่างๆ
ประการแรกการจำกัดระบอบกรรมสิทธิ์เอกชนและใคร่ครวญดีๆ ก่อนจะทำ เช่น ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ การศึกษา ป่าไม้ หรือยา มันควรมีข้อจำกัดในการเอามาแปลงเป็นทรัพย์สินเอกชน
ประการที่สองการมองตลาดก็ไม่ควรมองแบบหลงใหล ที่เชื่อว่าตลาดจะสามารถจัดการหรือแก้ไขตนเองได้ แต่ตลาดมีขีดจำกัดที่จัดการตนเองไม่ได้หลายประการ มีการเสนอเรื่องกลไกตลาดเสรีแบบจำกัด หรือการใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด และการกระจายความมั่งคั่ง ก็เป็นการแทรกแซงตลาดลักษณะหนึ่ง เช่น การเก็บภาษีจากทุน จากที่ดิน
ประการที่สาม การสะสมทุนแบบจำกัด โดยไม่มุ่งทำการผลิตโดยกำหนดต้นทุนต่ำสุด หรือแสวงหากำไรสูงสุดอย่างเดียว เช่น แนวคิดผู้ประกอบทางสังคม (Social Enterprise) ที่ผู้ประกอบการไม่ได้มุ่งกำไรสูงสุด หรือการส่งเสริมให้เกิดการต่อรองกับนายจ้าง เช่น การตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ซึ่งนำไปสู่การตั้งพรรคแรงงาน ที่มีบทบาทการกำหนดวาระทางการเมือง เพื่อควบคุมปัญหาของระบบทุนนิยม
ประการที่สี่ ในด้านการเมือง คือจะทำอย่างไรให้ผู้ยากไร้ได้มีพลังมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนเล็กคนน้อยในแง่ของพลังการต่อรอง สามารถจะกำหนดวาระทางการเมืองได้อย่างแท้จริง
แบ๊งค์เสนอว่าในการแก้ไขระบบทุนนิยม พื้นฐานที่สุดคือเราต้องเชื่อพลังของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงระบบ เมื่อไรที่เราเชื่อว่าตัวระบบเองจะไหลไปสู่ความเลวร้ายและพังทลายไปเอง มันก็เหมือนข้อวิจารณ์ต่อมาร์กซิสต์แบบคลาสสิก คือมันมีลักษณะชะตากำหนด เชื่อว่ามีลักษณะตายตัวของจุดจบ ที่เราไม่อาจจะควบคุมได้ แต่ถ้าเชื่อว่าทุกคนมีหัวใจที่จะต้านทานความเลวร้ายของตัวระบบ มันก็น่าจะเปลี่ยนแปลงตัวทุนนิยมจากภายในระบบเองได้
(ติดตามข้ออภิปรายของวิทยากรอีกสองท่านและช่วงถกเถียงในตอนที่ 2)