30 พ.ย. 2556 - กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชนเสนอข้อเสนอทางออกทางการเมือง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้อเสนอทางออกทางการเมือง โดย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นและอาจแปรไปสู่การเผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่าย หรือระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น
1. ทุกฝ่ายควรเคารพเจตนารมย์การเข้าร่วมชุมนุมของประชาชนทั้งสองฝ่าย ทั้งจากฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ต้องการปกป้องรัฐบาที่มาจากการเลือกตั้งและสิทธิในการเลือกตั้ง และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ที่เรียกร้องการขจัดคอรัปชั่นของนักการเมืองและกลุ่มทุนขนาดใหญ่
เจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายไม่ควรเป็นคู่ขัดแย้งกันและกัน แต่ควรเป็นหลักการร่วมที่สำคัญของการระบบการเมืองของประเทศ การชุมนุมของทั้งสองกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย ตราบใดก็ตามที่ไม่มีการเรียกร้องอำนาจนอกระบบ ไม่ทำลายทรัพย์สินของรัฐและเอกชน และเป็นการชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธ
2. เราขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาที่เป็นรากฐานของความขัดแย้งของสังคมไทย 3 ประการคือ
1) แก้ปัญหาการไม่ยอมรับหรือไม่ไว้วางใจต่อกลไกพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันได้แก่การถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ และแนวทางป้องกันปัญหาการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ
2) แก้ไขปัญหาความเสมอภาคในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกกลุ่ม กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและเสียงข้างน้อยในกระบวนการประชาธิปไตยทั้งที่เกิดขึ้นในรัฐสภา (การจัดทำกฎหมาย ) และการกำหนดนโยบายสาธารณะ (นโยบายและแผนพัฒนาประเทศ นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ นโยบายและแผนด้านทรัพยากรธรรมชาติ การจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ ฯลฯ) ตลอดจนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชนจัดการตนเอง
3) ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย การขจัดและป้องกันปัญหาคอรัปชั่น รวมทั้งการขจัดการผูกขาดและควบคุมตรวจสอบอิทธิพลของกลุ่มทุนและบรรษัทขนาดใหญ่ในการกำหนดนโยบายและผลักดันโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง และสร้างผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่
3. เราเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ที่ฝ่ายผู้ชุมนุมได้ยกระดับการชุมนุมเพื่อเข้าไปยึดสถานที่ราชการโดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดระบอบทักษิณเป็นหลักโดยมิได้มีข้อเสนอการปฏิรูปทางการเมืองที่ชัดเจน ในขณะฝ่ายรัฐบาลยังคงพยายามรักษาอำนาจในการบริหารประเทศ หรือตัดสินใจยุบสภาโดยไม่ได้แสดงจุดยืนและไม่ได้แสดงเจตนารมย์ที่จะแก้ไขปัญหารากฐานความขัดแย้งทั้ง 3 ประการข้างต้นนั้น จะไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และการสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมได้อย่างที่ทั้งสองฝ่ายประสงค์
4. ดังนั้น ก่อนประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ต้องดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีตัวแทนจากรัฐสภา จากกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย และจากภาควิชาการ/ภาคประชาสังคม/ภาคสังคมอื่นๆจำนวนเท่าๆกัน เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นกติการ่วมที่เป็นไปตามเจตนารมย์ และออกแบบกลไกในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปฏิรูปกระบวนการกำหนดและการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ เพื่อให้การแก้ไขปัญหารากฐานทั้ง 3 ประการของสังคมไทยให้ได้อย่างแท้จริง
กรอบเวลาในการยุบสภา การร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ การจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดประชามติ การให้สัตยาบัน ตามข้อเรียกร้องของหลายฝ่ายให้เป็นไปตามการเจรจาของกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
5. เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการยั่วยุ และใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันผลักดันให้เกิดการเจรจาขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้สังคมก้าวพ้นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรง ที่อาจนำประเทศไปสู่การรัฐประหาร เปลี่ยนการเผชิญหน้ามาเป็นการร่วมวางกติกาทางสังคมร่วมกันของทั้งรัฐสภา ตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย และพลเมืองที่แสดงออกและประสงค์จะมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตประเทศในรูปแบบต่างๆ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai