Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

คนทำงานเอดส์ ประกาศเจตนารมณ์ ร่วมลดตาย ลดรายใหม่ ลดตีตรา

$
0
0

เครือข่ายคนทำงานด้านเอดส์ เผยความเข้าใจเรื่องเอดส์ในคนรุ่นหลังต่ำลง ส่งผลคนไม่พร้อมอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกันทำงาน สร้างความเข้าใจและลดการติดเชื้อเอชไอวีให้เป็นศูนย์

28 พ.ย.2556 เครือข่ายคนทำงานด้านเอดส์ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่าย 12 D และองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กว่า 60 คน ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ต่อการทำงานเรื่องเอดส์ เนื่องในวันเอดส์โลก (1 ธ.ค.ของทุกปี) ที่ลานหน้ากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นว่า เอดส์ยังคงเป็นปัญหา และเหมือนว่าทุกฝ่ายที่ทำงานเรื่องนี้ คิดว่าทุกอย่างควบคุมได้ สถานการณ์กำลังจะดีขึ้น แต่สถานการณ์เช่นนี้ เขาคิดว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เอดส์กลายเป็นปัญหาใหญ่ และแก้ไขลำบากขึ้น

“โจทย์คือคนรุ่นหลังยังมีความเข้าใจเรื่องเอดส์ที่ต่ำลง จากการสำรวจของกรมควบคุมโรค พบว่าคนยังไม่พร้อมอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อฯ หรือไม่อยากให้ผู้ติดเชื้อฯ มาเรียนร่วม เยาวชนที่ติดเชื้อฯ ต้องหลบตัวเองอยู่เงียบๆ ไม่ต้องการให้ใครรู้ เพราะหากมีคนรู้ ก็อาจจะถูกรังเกียจหรืออาจจะถูกไล่ออกจากโรงเรียน เป็นต้น แล้วเขาเหล่านั้นจะอยู่อย่างไร ในสถานการณ์แบบนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำงานสร้างความเข้าใจใหม่ให้บรรลุผลโดยเร็ว” นิมิตร์กล่าว

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวอีกว่า กิจกรรมในครั้งนี้ทำขึ้นเพื่อต้องการสร้างความเข้าใจในเรื่องเอดส์ให้กับคนทุกรุ่น รวมถึงเตือนคนทำงานด้านเอดส์ กรมควบคุมโรค เอ็นจีโอ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ว่าการผูกสัญญาจะเป็นหมุดหมายในการร่วมมือกันในการทำงานเรื่องเอดส์มากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น เพื่อไปข้างหน้าด้วยกันได้

ด้าน สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า การทำเรื่องเอดส์ให้เป็นศูนย์ ต้องทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ทุกคนบนแผ่นดินไทย รวมถึงแรงงานข้ามชาติ ได้รับบริการที่จำเป็น ตั้งแต่การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ หรือการรักษาตามมาตรฐาน เพื่อลดอัตราการตาย และลดการส่งผ่านเชื้อฯ ไปยังผู้อื่นได้ดีขึ้น

“การรักษาถือเป็นการป้องกันอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการจะเป็นปัญหา เพราะเราไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาด หรือลดอัตราการตายได้จริง ซึ่งรัฐสามารถให้บริการกับแรงงานข้ามชาติได้ เพราะนี่คือเขตแดนความรับผิดชอบของรัฐไทย รวมถึงยังมีความจำเป็นที่ต้องจัดบริการหาเข็มและอุปกรณ์สะอาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการติดเชื้อฯ ในกลุ่มผู้ใช้ยาด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่เกิดบริการนี้” ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ให้ความเห็น

สุภัทรา กล่าวว่า แม้รัฐจะส่งเสริมให้คนเข้าถึงการรักษาโดยเร็ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องการตรวจเลือดเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ต้องให้ผู้ปกครองยินยอมนั้น จะต้องแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อให้เยาวชนได้รับบริการการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องขออนุญาตพ่อแม่ เพราะหากเด็กเข้าถึงบริการเร็ว ก็จะมีประโยชน์กับตัวเด็กเอง คือจะช่วยให้เขาไม่เจ็บป่วย และลดโอกาสการเสียชีวิตจากเอดส์ลง

สุดใจ ตะภา ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ความเข้าใจผิดในเรื่องการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ เช่น การปฏิเสธไม่ให้เรียน ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน นอกจากนั้นการตีตราในเรื่องเอดส์ทำให้คนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ ไม่กล้าเข้าสู่การรักษา เพราะกลัวคนรู้ กลัวคนในชุมชนไม่ยอมรับ

“อย่างกรณีของนักศึกษาพยาบาลที่ถูกบังคับตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีระหว่างเรียน เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้เขาต้องออกจากการเรียน ทั้งที่ถ้าได้เรียนต่อ ก็เรียนจบได้เป็นพยาบาลอย่างที่ฝันไปแล้ว แต่น้องเขาต้องเสียเวลาไปอีกหลายปี เพราะต้องไปเริ่มต้นหาที่เรียนใหม่ จากกรณีนี้ทำให้เห็นว่าความไม่เข้าใจของคนในสังคมต่อเรื่องเอดส์กระทบต่อชีวิตของผู้ติดเชื้อฯ อย่างใหญ่หลวง ซึ่งเรากำลังฟ้องศาลปกครอง ให้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการละเมิดสิทธิผู้ติดเชื้อฯ เพราะถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่คน ที่จะต้องเจอกับสถานการณ์เช่นนี้” สุดใจ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายคนทำงานด้านเอดส์ ประกอบด้วยมาตรการทางนโยบายและการปฏิบัติงาน 9 ข้อ คือ 1.ลดการติดเชื้อฯ เด็กแรกเกิดให้เป็นศูนย์ 2.จัดหาเข็มและอุปกรณ์ใหม่สำหรับผู้ใช้ยา 3.มีมาตรฐานตรวจเลือดเอชไอวีโดยสมัครใจ และให้รู้ผลภายในวันเดียว 4.ตรวจเลือดหาการติดเชื้อฯ ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง 5.ใช้แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อฯ/ผู้ป่วยเอดส์ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 6.ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการป้องกันและการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ 7.ดำเนินการทางกฎหมายกับสถานศึกษา หรือสถานประกอบการที่บังคับตรวจเลือดหาการติดเชื้อฯ 8.ยึดใบอนุญาตหน่วยบริการสาธารณสุขที่ร่วมมือกับสถานศึกษา/สถานประกอบการในการบังคับตรวจเลือด และ  9.ลงทุนในการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์ อย่างต่อเนื่อง
         
ในการประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายคนทำงานด้านเอดส์ มีการนำประติมากรรมรูปโบว์แดงขนาดใหญ่ไปตั้งไว้บริเวณสนามหญ้าหน้ากรมควบคุมโรค สธ.ด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์อันหมายถึงความร่วมมือ และพันธสัญญาในการไปสู่เป้าหมายในการทำงานเอดส์ร่วมกัน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles