เสนอตกลงกับศาลให้หนังสือรับรองแทนหลักทรัพย์ , กระจายอำนาจอนุมัติความช่วยเหลือให้อนุกรรมการแต่ละภูมิภาค, ขยายความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิทุกประเภท โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างควบคุมตัวทุกกรณี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ร่วมจัดรายงานวิจัยข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง “กองทุนยุติธรรม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ มกราคม 2554-มีนาคม 2556 โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของ องค์กรภาคีได้แก่ สหภาพยุโรป (European Union) มูลนิธิ คอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer Stiftung) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney Center)
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงการพัฒนาขยายกรอบการทำงานของกองทุนยุติธรรมโดยยึดถือจากรูปแบบเดิมเป็นหลัก ตลอดจนมีการนำเสนอเพื่อปรับระเบียบและวัตถุประสงค์ของกองทุนยุติธรรมเพื่อเพิ่มการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงในหมวดต่างๆ เช่น การบริหารค่าใช้จ่าย, ระเบียบเกณฑ์การพิจารณา และการกำหนดขอความร่วมมือเพิ่มเติมกับหน่วยงานอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานของกองทุนยุติธรรม นอกจากนี้เนื้อหาของงานวิจัยได้รวมไว้ซึ่งการวิเคราะห์งบประมาณ, ผลประกอบการ, หลักเกณฑ์การรับและการทำงานของทนายที่ลงทะเบียนไว้กับกองทุน ซึ่งโดยภาพรวมแล้วรายงานวิจัยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับนี้ได้นำเสนอแนวความคิดแบบก้าวหน้าในการบริหารและขยายกองทุนยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความเข้าถึงทางยุติธรรมให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้เป็นกรณีศึกษา และมุ่งหวังที่จะขยายขอบเขตดังกล่าวไปยังประชาชนกลุ่มอื่นๆในประเทศไทย
ทั้งนี้ กองทุนยุติธรรมได้ถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2549 โดยกระทรวงยุติธรรม ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ สังกัด กระทรวงยุติธรรม เนื่องมาจากมีผู้เดือดร้อนเข้ายื่นขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากกองทุนจำนวนมาก ประกอบกับงบประมาณที่ไม่แน่นอน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่การบริหารงานของกองทุนยุติธรรมจะพบอุปสรรคและสิ่งท้าทายในหลายกรณี
คณะผู้วิจัยนำเสนอว่า ควรมีการปรับปรุงนโยบายการพัฒนาแนวทางการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม คณะผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะ 6 ประการ ดังนี้
1.การพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่อให้มีแหล่งทุนสนับสนุนให้เพียงพอและต่อเนื่อง แก่ความต้องการของผู้ขอรับความช่วยเหลือซึ่งขยายขอบเขตของกองทุนยุติธรรม และการทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ดำเนินการอยู่ให้สามารถดำเนินการต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. การใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวควรทำความตกลงกับศาลใช้หนังสือรับรองแทนการนำหลักทรัพย์มาวางต่อศาล เพื่อขยายโอกาสให้แก่ผู้ขอรับการสนับสนุนรายอื่นๆ จากกองทุนยุติธรรมได้มากยิ่งขึ้น
3. ควรกระจายอำนาจในการพิจารณาอนุมัติการให้ความช่วยเหลือไปยังอนุกรรมการในแต่ละภูมิภาค โดยให้คณะกรรมการกลางฯกองทุนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจาณาอนุมัติสนับสนุนให้เป็นเอกภาพ เพื่อทำให้เกิดความรวดเร็ว และทั่วถึงในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ
4. ควรการปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนยุติธรรม ดังนี้
4.1 ขยายการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ในการส่งเสริมมาตรการเชิงป้องกันได้แก่ การอบรมกฎหมายแก่ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมาย อันเป็นการช่วยลดการละเมิดสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.2 ขยายการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการถูกควบคุมตัวทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาหรือไม่
4.3 ควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานอิสระที่มีศักยภาพ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือนั้นสามารถทำได้อย่างครอบคลุม สะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการ และความจำเป็นของประชาชนในแต่พื้นที่ และมีการจัดการประเมินผลการให้บริการในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
4.4 ควรมีการกำหนดมาตรฐานของทนายความที่เข้ามาลงทะเบียนกับกองทุนฯเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และควรกำหนดค่าตอบแทนการว่าความของทนายความให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยคำนึงถึงรูปแบบคดี ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ประวัติการทำงาน ฯลฯ
5.กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ควรมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทุนยุติธรรมในรูปแบบต่างๆเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติกระทรวงกลาโหม ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ล่ะจังหวัด หน่วยงานทางฝ่ายปกครอง กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต่างๆที่มีอำนาจจับกุมหรือควบคุมตัวประชาชน เพื่อให้บุคคลากรในหน่วยงานดังกล่าวได้แจ้งสิทธิและประชาสัมพันธ์ในการให้ความเหลือของกองทุนยุติธรรม
6. ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายได้ชี้แจงถึงบทบาทของกองทุนยุติธรรมและปัญหาการซ้ำซ้อนในการให้บริการและจำนวนทนายความที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ รัฐควรมีนโยบายว่ากองทุนยุติธรรมเป็นผู้จัดสรรทุนเพื่อให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษา สภาทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นต้น โดยกองทุนยุติธรรมมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้กำกับและประเมินผลการทำงานของหน่วยงานที่กองทุนยุติธรรมได้สนับสนุน ดังนั้น ควรยกเลิกบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยตรง
การนำเสนออย่างเป็นทางการได้รับความร่วมมืออย่างดีจากข้าราชการเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงยุติธรรม, ผู้นำพรรคฝ่ายค้านประชาธิปัตย์ และสส.ในพื้นที่ภาคใต้ ในการเสนอนำทีมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิ คอนราด อาเดนาวร์ ได้แก่ รศ.ณรงค์ ใจหาญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์, ลี่ แสงสันติธรรม ผู้จัดการโครงการสหภาพยุโรป, ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และกนกวรรณ ชาติสุวรรณ ผู้วิจัยอาวุโส นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคีสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ได้แก่ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
ในวันเดียวกันทางคณะผู้วิจัยได้นำรายงานวิจัยฉบับดังกล่าวเข้ายื่นเสนอต่ออดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สส.จังหวัดสงขลา นายศิริโชค โสภา ที่พรรคประชาธิปัตย์ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเช่นกัน โดยอดีตนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นหลายประการและเน้นว่า “เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการช่วยเหลือผ่านกองทุน การปรับปรุงระเบียบดังกล่าวควรทำควบคู่ไปกับการทบทวนการพิจารณาประกาศใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับในพื้นที่ด้วย” อย่างไรก็ดีทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ให้การสนับสนุนในข้อเสนอแนะของงานวิจัยเพื่อนำไปใช้เป็นนโยบายทางเลือกในการดับไฟใต้ ประกอบกับการเซ็นสัญญาสันติภาพที่จัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซียที่ผ่านมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai