สำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐจัดโครงการยาปลอมเป็นภัยชีวิต ด้านเอ็นจีโอไทยตั้งข้อสังเกตแค่บังหน้า เหตุสหรัฐส่งอุปทูตด้านทรัพย์สินทางปัญญาไป 5 ประเทศรวมไทย ดันแก้กฎหมายเอื้อประโยน์อุตสาหกรรมยาสหรัฐตั้งแต่ 2554
28 พ.ย.2556 กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เปิดเผยว่า ตามที่วันพรุ่งนี้สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ (United States Patent and Trademark Office) จะจัดงานแถลงข่าวเพื่อแนะนำโครงการรณรงค์ “ยาปลอมเป็นภัยถึงชีวิต (Fake Drugs Kill)” ที่โรงแรมดังกลางกรุงเทพฯ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะแก้กฎหมายไทยเพื่อคุ้มครองผลิตภัณฑ์ของบริษัทยาข้ามชาติ
"ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยาข้ามชาติพยายามใช้ทุกวิถีทางในการผูกขาดทำกำไรผ่านการเจรจาเอฟทีเอ เมื่อการเจรจาเอฟทีเอไม่คืบหน้าก็ใช้การกดดันเพื่อให้แก้กฎหมายในประเทศ ตั้งแต่ปี 2554 สำนักสิทธิบัตรสหรัฐฯได้ส่งอุปทูตด้านทรัพย์สินทางปัญญาไป 5 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ คือ รัสเซีย อินเดีย บราซิล จีน และไทย โดยระบุเป้าหมายชัดเจน เพื่อแก้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ จึงขอตั้งข้อสังเกตเรื่องความห่วงใยผู้บริโภคจากปัญหายาปลอมนั้น เป็นเพียงเรื่องบังหน้า'
ปี 2555 กระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯได้ให้ทุนสนับสนุนการตั้งสาขา “ภาคีความร่วมมือเพื่อยาปลอดภัย” (Partnership for Safe Medicine) ในประเทศไทย ซึ่งภาคประชาสังคมไทยได้ออกมาตั้งข้อสงสัยในวาระซ่อนเร้น
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุว่า วาระซ่อนเร้นดังกล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงนิยามยาปลอมโดยสร้างความสับสนให้กับสังคมว่า ยาด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยเป็นเรื่องเดียวกันกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ ในความเป็นจริงเป็นคนละเรื่องและมีวิธีแก้ไขปัญหาที่ต่างกัน หน่วยงานต่างๆ จึงควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจเข้าร่วมและอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือ
“ในความเป็นจริง ยาต้นตำรับที่จำหน่ายโดยบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรเองก็เป็นยาด้อยคุณภาพได้ เนื่องจากไม่มีมาตรฐานควบคุมการผลิตหรือขนส่งที่ดีพอ หรือพยายามลดต้นทุนการผลิตโดยจ้างให้บริษัทยาขนาดเล็กที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตแทนแบบกดราคา ทำให้บริษัทยาที่รับจ้างผลิตต้องลดปริมาณตัวยาสำคัญที่มีต้นทุนลง”
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวด้วยว่า ในขณะที่หากพิจารณาผลงานและจุดยืนที่ผ่านมาของภาคีความร่วมมือเพื่อยาปลอดภัย (Partnership for Safe Medicine) ในสหรัฐฯ และอินเดีย ก็มีท่าทีเดียวกันคือ ใช้นิยามยาปลอม (counterfeit drug)*ในเชิงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาอ้างรวมว่าเป็นเรื่องยาปลอมในเชิงคุณภาพและความปลอดภัย (fake drug, substandard drug, spurious drug) เพื่อกดดันให้มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลด้านยาของประเทศต้องทำหน้าที่การตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญาไปด้วย นั่นไม่ได้แก้ปัญหายาปลอม แต่กลับใช้ทรัพยากรรัฐไปช่วยบริษัทยาข้ามชาติคุ้มครองผลประโยชน์ของเขา ดังนั้น เพื่อนผู้สื่อข่าวและหน่วยงานต่างๆ ที่จะไปฟังการแถลงข่าวครั้งนี้พึงระวัง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ให้เอกชน และทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทยาข้ามชาติพยายามใช้หลากหลายกลยุทธ์เพื่อขยายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กว้างขวาง และเข้มงวดมากขึ้นจนเกินเลยจากกฎหมาย เช่น การขยายนิยามของยาปลอมจากความหมายด้านคุณภาพและความปลอดภัยให้รวมไปถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเสนอให้มีมาตรการแก้ไขโดยหลอกล่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เรื่องยาปลอม ที่เหมารวมยาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและยาด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยว่าเป็นยาปลอม ซึ่งเป็นยุทธวิธีแบบเดียวกันที่บรรษัทยาข้ามชาติพยายามวิ่งเต้นให้องค์การอนามัยโลกบัญญัตินิยามยาปลอมให้ครอบคลุมยาด้อยคุณภาพ และยาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนิยายยาปลอมในข้อตกลงต่อต้านสินค้าปลอมแปลง (ACTA) ที่ถูกคว่ำไปในสภายุโรป แต่ยังคงปรากฏในข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปและสหรัฐผ่านการเจรจาเอฟทีเอและทีพีพี โดยบังคับให้ อย. จากเดิมมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคและดูความปลอดภัยและคุณภาพของยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ มาทำหน้าที่ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย อีกทั้ง ยังต้องการเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย ให้สามารถยึดจับยารักษาโรคที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นยาปลอมตามความหมายใหม่ และสามารถร้องขอให้ห้ามการผลิตและขนส่งทั้งระบบ แม้เพียงแค่ต้องสงสัย เช่นที่สหภาพยุโรปยึดยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาโรคไม่ติดต่อที่ส่งจากอินเดียไปยังประเทศกำลังพัฒนา
ทางด้าน ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 73 กำหนดขอบเขตความหมายของยาปลอม คือ 1.ยาหรือวัตถุที่ทำเทียมทั้งหรือมีบางส่วนว่าเป็นยาแท้ 2.ยาที่แสดงชื่อว่าเป็นยาอื่น หรือแสดงวันเดือนปีที่หมดอายุไม่เป็นความจริง 3.ยาที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งไม่เป็นความจริง 4.ยาที่แสดงว่าเป็นยาตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ไม่จริง 5.ยาที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน โดยมีสาระสำคัญขาดหรือเกินกว่า 20% ของตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้
“ยาผิดมาตรฐานและยาเสื่อมคุณภาพนี้จะเน้นเรื่องคุณภาพของยา ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาปลอมแปลง (counterfeit medicine) ทรัพย์สินทางปัญญาที่ทางอุตสาหกรรมยาต้องการขยายคำนิยามแต่อย่างใดทั้งนี้ ปัญหาเรื่องยาด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆ ประเทศที่ไม่มีหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยที่เข้มแข็ง ในประเทศไทย เรามีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีศักยภาพทำงานตรวจสอบยาต่างๆ ในประเทศอยู่ แต่ปัญหายาด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยในไทยส่วนใหญ่เป็นยาลักลอบขายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.และยาที่ขายผ่านอินเทอร์เน็ต” ภญ.นิยดา กล่าว
ภญ.นิยดา กล่าวเพิ่มว่า นอกจากนี้ จากงานวิจัยของ กพย.พบว่า บริษัทยาต้นแบบได้มีแทคติกต่างๆ ที่เป็นการข่มขวัญบริษัทยาชื่อสามัญ เช่น การฟ้องร้องเอาผิดทุกรูปแบบในประเด็นที่บริษัทยาต้นแบบคิดว่าถูกละเมิดสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หรือแม้แต่ละเมิดลิขสิทธิ์ในเอกสารกำกับยาทั้งๆ ที่ไม่เข้าข่ายการเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทย นอกจากนี้ในระหว่างที่คดีอยู่ในศาลยังส่งจดหมายไปแจ้งแกมขู่โรงพยาบาลต่างๆ ให้ระงับการสั่งซื้อยาชื่อสามัญที่เป็นคดีความ ทั้งๆ ที่คดียังไม่สิ้นสุด หากบริษัทยาชื่อสามัญเล็กๆ ที่ไม่มีฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายสิทธิบัตรที่แข็งแกร่งมากพอ ก็อาจจะถอดใจ ไม่สู้คดี ถอนยาจากตลาด ซึ่งทำให้บริษัทยาต้นแบบผูกขาดและเรียกราคายาได้แพงขึ้นเพราะขายเพียงเจ้าเดียว แม้ว่าในความเป็นจริง ในที่สุดศาลอาจจะชี้ว่า บริษัทยาชื่อสามัญนั้นอาจจะไม่ได้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเลยก็ได้ ดังนั้น หากหน่วยงานต่างๆ ไปหลงกล เอาเรื่องคุณภาพยาและทรัพย์สินทางปัญญาไปปนกัน เชื่อว่า จะทำให้บริษัทยาชื่อสามัญจำนวนมากถูกกลั่นแกล้งด้วยการแจ้งจับยึดยาที่ถูกต้องสงสัย ทั้งที่อาจไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพและไม่ได้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเลย