27 พ.ย. 2556 สำนักงาน กสทช. จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการเพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2556 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยในงานมีการร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ของ 11 องค์กรวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในการกำกับดูแลกันเอง
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวเปิดการสัมมนาว่า การกำกับดูแลสื่อในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ในอุดมคติคือ การกำกับดูแลกันเอง โดยผู้ประกอบกิจการและผู้ประกอบวิชาชีพ โดยที่องค์กรกำกับดูแลของรัฐไม่ต้องมาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม อย่างที่ทราบกันว่าเป็นไปได้ยาก ที่จะให้คนในระดับเดียวกันจะยอมรับซึ่งกันและกัน และกำกับกันเอง ดังนั้น ต้องพัฒนาการยอมรับซึ่งกันและกันเพื่อไม่ให้องค์กรกำกับดูแลของรัฐเข้ามาดูแล ซึ่งโดยเจตนารมณ์แล้ว ควรเป็นในกรณีร้ายแรง หรือยอมรับไม่ได้จริงๆ เท่านั้น
เขากล่าวต่อว่า จะต้องหาสมดุลโดยองค์กรกำกับดูแลและองค์กรวิชาชีพ พูดคุยกันว่าใครจะอยู่ตรงไหน โดยที่แต่ละฝ่ายต้องพิสูจน์บทบาทของตัวเอง เพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน ย้ำว่า หวังว่าองค์กรกำกับดูแลจะเข้ามาแตะน้อยที่สุด โดยที่กิจการสื่อแต่ละประเภทอาจมีระดับการกำกับที่แตกต่างกัน เพราะสื่อต่างประเภทก็มีธรรมชาติต่างกัน
สุภิญญาชี้ในภาวะการเมืองร้อนแรง ขอสื่ออย่าสร้างความเกลียดชัง จนเกิดความรุนแรง
ต่อมามีการเสวนาหัวข้อ "ศักยภาพขององค์กรวิชาชีพสื่อในการกำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานจริยธรรม"สุภิญญา กลางณรงค์ เล่าว่า กระบวนการแลกเปลี่ยนเรื่องการกำกับดูแลกันเองระหว่าง กสทช. และสื่อว่าใช้เวลากว่าสองปี โดยการลงนามในประกาศเจตนามณ์ วันนี้ถือเป็นพิธีการเชิงสัญลักษณ์ เพื่อบอกว่าองค์กรวิชาชีพตื่นตัว แล้ว กสทช. เองก็ตระหนักว่ารัฐใช้อำนาจอย่างเดียวไม่ได้ผล จึงต้องส่งเสริมให้การกำกับดูแลกันเองมีประสิทธิภาพ
สุภิญญา กล่าวว่า รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากทุกฝ่ายเช่นเคย หากมองในแง่ดี ก็คืออย่างไรเสีย สื่อคงไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ แต่อีกแง่ ในเมื่อมีเสียงวิจารณ์มากขนาดนี้ก็แปลว่าอาจมีอะไรผิดปกติ ที่ต้องทบทวนตัวเอง
โดยสื่อทีวีขณะนี้มีทั้งรายเดิมอย่างฟรีทีวีและรายใหม่อย่างทีวีดาวเทียม ซึ่งในฟรีทีวีนั้นยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างที่เป็นสื่อของรัฐ ยังไม่มีความเป็นอิสระ กสทช.ก็กำลังแก้ไขตรงนี้ โดยในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จะมีประมูลทีวีดิจิตอล ซึ่งจะทำให้สื่อทีวีทั้งรายเก่าและรายใหม่มาอยู่ร่วมกัน เป็นโอกาสที่จะออกแบบฟรีทีวีใหม่ในระบบใบอนุญาตร่วมกัน
ส่วนปัจจุบัน ที่สถานการณ์การเมืองร้อนแรง คงต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ โดยสื่อโทรทัศน์ไทยขณะนี้อยู่ในภาวะสุดขั้วสองทาง ฟรีทีวีโดนวิจารณ์ว่า เมินเฉยต่อความเคลื่อนไหวในสังคม ไม่นำเสนอข่าวเท่าที่ควร ขณะที่ทีวีดาวเทียมก็เต็มที่ จนอาจล้ำเส้นเป็นเฮทสปีช ในภาวะเช่นนี้ หาก กสทช.เข้าไปแทรกแซง อาจเป็นการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ
สุภิญญา เสนอว่า ถ้าสองส่วนปรับเข้ามา จะช่วยกอบกู้สังคมไทยในระยะยาว โดยไม่ควรสร้างความเกลียดชังจนทำให้เกิดการใช้ความรุนแรง ฟรีทีวีต้องปรับตัวเสนอข้อเท็จจริงให้รอบด้าน เป็นกลาง และให้พื้นที่ฝ่ายค้านมากขึ้น ส่วนทีวีดาวเทียม ก็ขออย่าล้ำเส้น คุกคามสื่อ หลังจากผ่านพ้นช่วงนี้ไปแล้ว ก็จะเชิญทุกฝ่ายมาหากติกากลางร่วมกัน โดยหากทีวีดาวเทียม อยากจะเลือกข้าง ก็มองว่าสามารถทำได้ แต่ต้องมีเกณฑ์ต่ำสุดที่จะไม่ข้ามเส้น
ด้าน ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า การกำกับกันเองไม่ได้แปลว่าสื่อกำกับกันเองเท่านั้น แต่ภาคอื่นๆ ต้องกำกับดูแลสื่อด้วย โดยปัจจุบัน สภาวิชาชีพฯ ก็มีนักวิชาการ มาร่วมสะท้อนการทำงานของสื่อว่าเป็นอย่างไรอยู่ ขณะเดียวกัน เรียกร้องไปยังผู้ชมผู้ฟังที่อยากเห็นสื่อทำงานอย่างมืออาชีพ เป็นกลาง มีจริยธรรม ก็ต้องใส่แว่นที่เป็นกลางด้วย
11 องค์กรวิชาชีพ ประกอบด้วย สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) สมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สมาคมสื่อสารมวลชนสัมพันธ์จักรชัยเพื่อความมั่นคง สภาองค์กรวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ภาคประชาชน สมาคมสภาผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไทย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย เจตนารมณ์ดังกล่าว ระบุองค์กรวิชาชีพเห็นสมควรให้มีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ ยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพฯ ในการนำเสนอข่าวสารและแสดงความเห็นและสนับสนุนสิทธิในการจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งสนับสนุนการมีกลไกกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพ ที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในการปฏิบัติและยึดถือร่วมกัน ส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการรับรู้ข่าวสารที่มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจะกำหนดแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้ |