หลังการเปิดโปงการสอดแนมโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน บราซิล-เยอรมนีจับมือเสนอร่างมติให้ยูเอ็น ประกาศคุ้มครองสิทธิความเป็นความส่วนตัวออนไลน์ ท่ามกลางการขัดขวางของสหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย จับตาการลงมติวันนี้
26 พ.ย.2556 วันนี้ คณะกรรมการที่สาม ของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งดูแลประเด็นเรื่องสังคม มนุษยธรรม และวัฒนธรรม จะมีการลงมติรับรองร่างข้อมติเรื่อง สิทธิในความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิตอล ซึ่งมีเนื้อหาแสดงความกังวลต่อการสอดแนมที่ผิดกฎหมายหรือโดยพลการ และเรียกร้องให้มีการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของพลเมืองทั่วโลก ร่างดังกล่าวเสนอโดยบราซิลและเยอรมนี ทั้งนี้ ร่างนี้ไม่ได้ระบุถึงประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ก็ออกมาหลังมีการเปิดโปงว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSA) ดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำบราซิลและเยอรมนี
สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า มีความพยายามทำให้ภาษาในร่างข้อมติอ่อนลง โดยสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกของ Five-Eyes ประเทศพันธมิตรที่แชร์ข่าวกรองกัน และกำลังเป็นที่ถกเถียงในระดับนานาชาติเรื่องการสอดแนมประชาชนและยังถูกเปิดโปงว่าสอดแนมประเทศพันธมิตรอื่น
ทูตที่เกี่ยวข้องในการเจรจาบอกกับเดอะการ์เดียนว่า สหรัฐฯ นั้นกลัวจะถูกมองว่าเป็นผู้นำในการต่อต้านข้อมติดังกล่าวในทางสาธารณะ จึงกำกับอยู่ข้างๆ และปล่อยให้ออสเตรเลียอยู่ในแนวหน้าแทน โดยก่อนหน้านี้ออสเตรเลียเพิ่งถูกเปิดโปงว่าดักฟังโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของผู้นำอินโดนีเซียและภรรยา
บราซิลและเยอรมนีนั้นยอมอ่อนข้อให้บางส่วน เพื่อเอาใจสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย แต่ก็ไม่ให้กระทบกับส่วนสำคัญของร่างเดิม อย่างไรก็ตาม ร่างที่แก้ไขยังคงภาษาส่วนที่บอกว่า สิทธิในความเป็นส่วนตัวควรใช้กับทุกคนไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติใด
ก่อนหน้านี้ หลังการเปิดโปงการสอดแนมของ NSA โดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน สหรัฐฯ เคยออกมาชี้แจงว่า การสอดแนมดังกล่าวไม่ได้ใช้กับพลเมืองสหรัฐฯ หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ
สำหรับร่างข้อมติเดิมนั้นระบุว่า ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชนเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการฝ่าฝืนและละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผลจากการสอดแนมการสื่อสารใดๆ รวมถึงการสอดแนมนอกอาณาเขต (extraterritorial) การดักฟัง การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสอดแนม การดักฟัง และการเก็บข้อมูลของประชาชนในวงกว้าง
ต่อมา เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 พ.ย.) มีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำโดยเอาประเด็นการฝ่าฝืนและละเมิดสิทธิมนุษยชนออก เป็นว่า เป็นห่วงอย่างยิ่งต่อผลกระทบด้านลบที่การสอดแนม และ/หรือ การดักฟังการสื่อสาร รวมถึงการสอดแนมนอกอาณาเขต และ/หรือ การดักฟังการสื่อสาร การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำในระดับมวลชน จะมีต่อการใช้สิทธิมนุษยชน
อีกประเด็นหลักในการถกเถียงคือ เรื่องสิทธินอกอาณาเขต ซึ่งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย โต้ว่าสิทธิในความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นเรื่องภายในของรัฐเท่านั้น ขณะที่บราซิลและเยอรมนีแย้งว่าพลเมืองทุกประเทศต้องได้สิทธินั้น
สำหรับผู้สนับสนุนร่างนี้ นอกจากบราซิลและเยอรมนีแล้ว ยังมีออสเตรีย โบลิเวีย เกาหลีเหนือ เอกวาดอร์ ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย ลิกเตนสไตน์ เปรู สวิตเซอร์แลนด์ สเปน ลักเซมเบิร์ก และอุรุกวัย
การลงมติจะมีขึ้นในวันนี้โดยหากไม่มีประเทศใดขอให้โหวต ก็จะถือว่าผ่านโดยเอกฉันท์ ซึ่งนักการทูตและเจ้าหน้าที่ยูเอ็นหลายรายคาดกันว่า สหรัฐฯ อาจตัดสินใจไม่ขอให้มีการโหวต เพราะกลัวจะต้องอับอายจากการเป็นเสียงข้างน้อย จากนั้น จะมีการลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 193 ประเทศ ในเดือนหน้า (ธ.ค.)
มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาตินั้นไม่มีผลผูกพันประเทศสมาชิกตามกฎหมาย แต่ก็สามารถมีอิทธิพลในทางปฏิบัติและทางการเมือง หากได้เสียงสนับสนุนที่มากพอ
แปลและเรียบเรียงจาก
Brazil and Germany draft anti-spy resolution at UN
UN surveillance resolution goes ahead despite attempts to dilute language