3 เม.ย.56 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 รับคำร้อง นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กรณีขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 64 ว่า“นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับคณะ กระทำการที่ส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือไม่”
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ว่าคำร้องนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ถึง 312 ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..) พ.ศ.... ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์)โดยยกเลิกความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แล้วเสนอเนื้อความใหม่ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของชนชาวไทยในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือแต่เพียงให้บุคคลผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว และให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีบุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นนอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันเป็นการลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของชนชาวไทย มีมูลกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามมาตรา 68 วรรค 2กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 17 (2) ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิฉัย
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากยังไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะใช้วิธีการชั่วคราวดังกล่าว พร้อมให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องจำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง และผู้ถูกร้องต้องชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้ง หากไม่ยื่นภายในเวลากำหนดถือว่าไม่ติดใจ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 50 มาตรา 204 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน รวมเป็น 9 คน และตาม มาตรา 216 ได้กำหนด องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทําคําวินิจฉัยคดีใด จะต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน