มีประชาชนหลายร้อยคนในลิเบียเดินขบวนเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธในกรุงตริโปลีวางอาวุธและถอนกำลังออกจากพื้นที่ แต่ก็ถูกกลุ่มติดอาวุธโจมตีจนมีผู้เสียชีวิต โดยประเทศลิเบียหลังการโค่นล้มกัดดาฟี ยังคงมีปัญหาการปะทะกันระหว่างกลุ่มติดอาวุธซึ่งกองกำลังของรัฐบาลยังไม่สามารถเข้าไปจัดการปัญหาได้
15 พ.ย. 2556 ที่กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย มีประชาชนอย่างน้อย 6 คนเสียชีวิตและอีก 50 คนได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธออกไปจากกรุงตริโปลี หลังจากที่มีคนใช้อาวุธโจมตีเข้าใส่ผู้ชุมนุม
คณะผู้นำศาสนาอิสลามในลิเบียเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเพื่อต่อต้านกลุ่มติดอาวุธกับอดีตนักรบที่ไม่ยอมปลดอาวุธและทำตัวขัดขวางรัฐบาลกลางมาเป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่มีการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี มูอัมมาร์ กัดดาฟี โดยมีองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้คอยหนุนหลัง
ประชาชนหลายร้อยคนได้มารวมตัวกันที่จัตุรัสเมเลียอะนาในกรุงตริโปลี พวกเขาพากันถือธงสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติ4krพร้อมกับธงชาติลิเบีย รวมถึงมีการขับร้องเพลงชาติ
หลังจากนั้นผู้ชุมนุมจึงได้เดินขบวนไปยังกองบัญชาการของกลุ่มติดอาวุธมิสราทา เพื่อเรียกร้องให้กองกำลังถอนตัวออกไปจากเมืองหลวง ก่อนที่จะมีคนยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม
ซัดดัด อัล-บาดรี ประธานสภาเทศบาลของตริโปลีผู้อยู่ในที่ชุมนุมกล่าวว่ากลุ่มติดอาวุธยิงใส่ผู้ชุมนุมทันทีที่พวกเขาเข้าไปถึงพื้นที่ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินขบวนไปที่กองบัญชาการอย่างสงบแต่กลุ่มติดอาวุธได้โจมตีผู้ชุมนุมด้วยอาวุธปืน 106 มม. รวมถึงเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี
"ผู้ชุมนุมไม่ได้มีอาวุธและพวกเขาต่างก็แค่ตะโกนว่า 'ลิเบีย'"อัล-บาดรีกล่าว เขาบอกอีกว่าเมืองตริโปลีมีความเสี่ยงเข้าสู่สงครามห้ำหั่นด้วยอาวุธ
รานา จาหวัด ผู้สื่อข่าวบีบีซีในกรุงตริโปลีกล่าวว่า ดูเหมือนการประท้วงต่อต้านกลุ่มติดอาวุธจะถูกสลายการชุมนุมแล้ว แต่ยังคงมีรายงานว่ารัฐบาลได้ปิดถนนเพื่อควบคุมการเข้าออกพื้นที่ มีเครื่องบินเจ็ทของกองทัพลิเบียบินต่ำอยู่รอบบริเวณถนนของสนามบิน โดยมีเสียงการต่อสู้ด้วยอาวุธหนักเกิดขึ้นอย่างประปราย
รัฐบาลปัจจุบันของลิเบียมีความพยายามควบคุมกลุ่มติดอาวุธจำนวนมากที่ครอบครองพื้นที่หลายส่วนของประเทศลิเบียหลังจากการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในปี 2554 โดยมีกระแสการเรียกร้องจากฝ่ายพลเรือนมากขึ้นเรื่อยๆ บอกให้กลุ่มติดอาวุธสลายตัวหรือไม่ก็เข้าร่วมกับกองทัพลิเบีย ซึ่งทางรัฐบาลรักษาการลิเบียได้ขีดเส้นตายให้กลุ่มติดอาวุธเข้าร่วมกองทัพภายในสิ้นปีนี้
แต่กองทัพของลิเบียยังคงอ่อนแอและไม่สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธได้ แม้จะมีความพยายามประสานความร่วมมือโดยการจ้างด้วยเงินของรัฐเพื่อให้กลุ่มติดอาวุธทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเมืองต่างๆ แต่กลุ่มติดอาวุธก็ยังคงเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาของพวกตนมากกว่าของทางการ และจนถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังคงมีการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มติดอาวุธที่ขัดแย้งกันสองกลุ่ม ซึ่งจาหวัดผู้สื่อข่าวบีบีซีกล่าวว่าหากกลุ่มติดอาวุธเข้าปะทะกับฝ่ายพลเรือนก็อาจถือเป็นสถานการณ์อันตรายเพราะพลเรือนส่วนมากยังมีอาวุธติดอยู่ที่บ้าน
เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เคยมีเหตุการณ์กลุ่มติดอาวุธควบคุมตัวนายกรัฐมนตรี อาลี ไซดาน เป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนที่จะมีการปล่อยตัว
เหตุการณ์ประท้วงต่อต้านกลุ่มติดอาวุธเคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ปีนี้ โดยเป็นการประท้วงขับไล่กลุ่ม 'กองกำลังโล่แห่งลิเบีย'ในกรุงเบงกาซี จนเป็นเหตุให้ผู้ประท้วงถูกยิงเสียชีวิต 28 คน หลังจากที่ผู้ประท้วงขว้างปาก้อนหินเข้าใส่กองบัญชาการ
เรียบเรียงจาก
Deaths at Libya anti-militia protest, BBC, 15-11-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-africa-24959938
'Anti-militias' protest in Libya turns deadly, Aljazeera, 15-11-2013
http://www.aljazeera.com/news/africa/2013/11/protest-libya-turns-deadly-2013111515712840946.html
เกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับอดีตกองกำลังกบฏในลิเบีย, ประชาไท, 10-06-2013
http://prachatai.com/journal/2013/06/47136