Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

กสทช.เล็งถอนใบอนุญาตวิทยุฯ หากพบรบกวนการบิน แล้วไม่แก้ไข

$
0
0

<--break->

(19 ก.ย.56) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ โดยระบุว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (ดอนเมือง) นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปตรวจสอบปัญหาคลื่นความถี่วิทยุรบกวนวิทยุการบินโดยอากาศยานของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เส้นทางการตรวจสอบจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-บุรีรัมย์-ร้อยเอ็ด-อุดรธานี

พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า กรรมการ กสทช. กล่าวถึงมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนวิทยุการบิน ว่า กสทช. ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ พร้อมทั้งจัดให้มีแนวทางการปฏิบัติงานและการประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) คือ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งรับผิดชอบการควบคุมจราจรทางการบิน

หากมีการตรวจสอบพบการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ในกิจการวิทยุการบิน  การแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงาน กสทช. ในเขตพื้นที่ ให้ทำการตรวจสอบหาสาเหตุและแหล่งที่มาของวิทยุกระจายเสียงที่ก่อให้เกิดการรบกวนให้แล้วเสร็จ กรณีเร่งด่วนภายใน 3 วันและกรณีไม่เร่งด่วนภายใน 10 วัน  หากไม่พบการรบกวน จะประสานไปยัง บวท. อีกครั้ง ว่ายังมีการรบกวนอยู่หรือไม่ หากไม่พบการรบกวนถือว่ายุติ 

ในกรณีผู้ส่งสัญญาณรบกวนการบินเป็นผู้ทดลองประกอบกิจการ และ/หรือได้รับใบอนุญาตวิทยุคมนาคม กสทช. จะแจ้งให้ระงับการออกอากาศด้วยวาจาโดยทันที และจะมีหนังสือแจ้งเป็นหลักฐานอีกครั้ง พร้อมทั้งให้แก้ไขปรับปรุงภายในเวลาที่กำหนด แต่ถ้าแก้ไขแล้วต้องมีหนังสือแจ้งผลการแก้ไขปรับปรุงให้ สำนักงาน กสทช. เขต ทราบ เพื่อดำเนินการตรวจสอบก่อนที่จะดำเนินการออกอากาศอีกครั้ง

หากไม่ดำเนินการแก้ไข ทางสำนักงาน กสทช. เขตจะร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 26 และ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุฯและแจ้งให้กลุ่มงานอนุญาตประกอบกิจการ1 (ปส 1) บันทึกประวัติเพื่อพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต

กรณีผู้ส่งสัญญาณรบกวนการบิน ไม่ได้เป็นผู้ทดลองประกอบกิจการ และไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม ให้สำนักงาน กสทช. เขต ร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดี ตามมาตรา 6 มาตรา 11 มาตรา 23 และ มาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และเมื่อดำเนินคดีเสร็จแล้วให้สำนักงาน กสทช. เขต มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้ บวท. ทราบ และแจ้งให้กลุ่มงาน ปส 1 บันทึกประวัติเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการออกใบอนุญาตต่อไป

พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า  หากพบว่าผู้กระทำผิดไม่ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการแต่ได้รับใบอนุญาตวิทยุคมนาคม ถ้าไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง  สำนักงาน กสทช. จะร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดี ตามมาตรา 26 และ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และจะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตวิทยุคมนาคมต่อไป หากตรวจสอบพบว่ามีการออกอากาศอยู่ ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับวิทยุกระจายเสียงนั้น ตามมาตรา 6 มาตรา 11 และมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551และจะบันทึกประวัติเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการออกใบอนุญาตต่อไป 

โดยทุกเดือนสำนักงาน กสทช. และ วิทยุการบินฯ จะจัดทำแบบฟอร์มสรุปผลการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สำนักงาน กสทช. เขตได้นำข้อมูลไปดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และจะแจ้งสรุปรายงานผลการดำเนินการให้ วิทยุการบินฯ ทราบ เพื่อสอบถามว่ายังมีการรบกวนคลื่นวิทยุการบินอยู่อีกหรือไม่    

สำหรับปัญหาคลื่นความถี่วิทยุการบินได้รับการรบกวนจากคลื่นวิทยุภาคพื้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุทางการบินจะทำให้เกิดความสูญเสียอีกด้วย  ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้คลื่นและแก้ปัญหาการรบกวนเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวเป็นสำคัญจึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU)  กสทช.และวิทยุการบินฯ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาวิทยุชุมชนรบกวนวิทยุการบินเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  และได้รายงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการคมนาคมวุฒิสภา ถึงความคืบหน้าการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

นายอนุชา คำโมง  ผู้อำนวยการใหญ่สำนักมาตรฐานความปลอดภัย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสายการบินต่างๆ ได้ยืนยันว่าขณะบินผ่านน่านฟ้าไทยจะได้รับสัญญาณการรบกวนเป็นเสียงจัดรายการวิทยุ เสียงเพลง เสียงโฆษณาสินค้า ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยทางการบิน เนื่องจากเป็นอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีสภาพอากาศไม่ดีอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้  วิทยุการบินจึงได้ร่วมมือกับ กสทช. แก้ไขปัญหาวิทยุภาคพื้นดินรบกวนการสื่อสารการบิน โดยได้มีการบินทดสอบหาสัญญาณรบกวนทั่วประเทศไทยแล้วในหลายพื้นที่  พบว่าเส้นทางที่มีการส่งสัญญาณรบกวนการบินอยู่มากเป็นเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังมีการปรับปรุงการส่งสัญญาณจนอยู่ในระดับมาตรฐานการบิน แล้ว  โดยบวท.ได้มอบหมายให้นักบิน ทำการสำรวจเส้นทางอย่างสม่ำเสมอ 

พลอากาศตรีธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวถึง สาเหตุที่วิทยุกระจายเสียงรบกวนการใช้งานคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุการบิน ว่า มาจากเครื่องส่งสัญญาณของวิทยุที่มีคุณภาพต่ำ การติดตั้งหรือการเชื่อมระหว่างเครื่องส่งกับสายส่งกำลังไปยังสายอากาศส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงปัญหาที่เกิดจากสาเหตุจากความรู้ความเข้าใจด้านเทคนิคและการเลือกใช้อุปกรณ์สายอากาศผิดประเภท เป็นต้น ซึ่งการบินตรวจสอบในเส้นทางท่าอากาศยานดอนเมืองกรุงเทพฯ-อุดรธานี ยังคงพบคลื่นรบกวนสัญญาณการบินซึ่งได้ทำงานร่วมกันกับ บวท. อย่างใกล้ชิด

โดยสำนักงาน กสทช. เขตจะนำผลการบินทดสอบทุกครั้งที่ตรวจพบไปดำเนินการตรวจสอบหาแหล่งแพร่ กระจายคลื่นรบกวน และดำเนินการด้านกฎหมายในส่วนของ กสทช. ต่อไป

ทั้งนี้ปัจจุบันสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับใบอนุญาตขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 2,743 ราย แบ่งเป็นกิจการบริการธุรกิจ 1,752 ราย กิจการบริการสาธารณะ 578 ราย และกิจการบริการชุมชน 413 ราย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles