Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ผลวิจัยชี้รัฐทบทวนเป้าหมาย FTA ไทย-อียู หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย เปิดทางต่างชาติผูกขาดพันธุ์พืช-สัตว์

$
0
0

<--break->

มูลนิธิชีววิถีและ สช. จัดเวทีรับฟังผลศึกษาผลกระทบจากการทำข้อตกลงเอฟทีเอไทย-อียู แนะรัฐควรทบทวนเป้าหมายและความคุ้มค่าของการเจรจา หวั่นเปิดช่องให้บริษัทข้ามชาติจดสิทธิบัตรและเข้าถึงทรัพยากร ทั้งเมล็ดพันธุ์พืช สมุนไพร และจุลินทรีย์ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่เกษตรกรไทยต้นทุนพุ่ง 2-6 เท่า และสูญเสียศักยภาพของประเทศในระยะยาว หากข้อมูลไม่พร้อมควรพักการเจรจา

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถีและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมว่าด้วยผลกระทบจากข้อเสนอความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศและสหภาพยุโรปหรืออียู ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ห้องประชุมสานใจ 2 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมวิชาการเกษตร นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ฯลฯ เข้าร่วม

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่าถ้ารัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลงฉบับนี้จะเสียเปรียบอียูด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรพันธุกรรมอย่างมาก เพราะอาจทำให้ต่างชาติเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้มากขึ้นและเกิดการผูกขาดทางการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา โดยไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ คิดเป็น 10% ของทั้งโลก และนำมาใช้ผลิตยาสมุนไพรไทยกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ผลิตอาหารและเครื่องสำอางคิดเป็นมูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เงื่อนไขที่ทางอียูเสนอให้ไทยเห็นชอบคือ 1.เป็นภาคี UPOV หรือ The International Union for the Protection of New Varieties of Plants ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับพันธุ์พืชโดยทำให้เกษตรกรไทยต้องใช้เมล็ดพันธุ์ในราคาที่แพงขึ้น 2-6 เท่าตัว คิดเป็นมูลค่า 80,721-142,932 ล้านบาท และมีแนวโน้มบังคับให้ไทยต้องยกเลิกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งจะทำให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงพันธุ์พืชของไทยได้ง่ายขึ้น2. เป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งจะเปิดทางให้ต่างชาติเข้าถึงจุลินทรีย์ได้ง่ายขึ้น และประเทศไทยจะไม่สามารถสร้างเงื่อนไขเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์มาต่อรองได้อีก ตรงนี้ถือเป็นความเสียหายราว 6,570-24,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ผลกระทบระยะยาวคือจะถูกกีดกันให้ไม่นำจุลินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ทั้งที่เป็นทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย 3.การขยายสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตเพราะอาจเกิดปัญหาจริยธรรมที่มนุษย์เป็นเจ้าของสิ่งมีชีวิตอื่นหรือมนุษย์ด้วยกันเอง ผูกขาดทรัพยากรพันธุกรรม กระทบเกษตรรายย่อยที่จะถูกผูกขาดการเมล็ดพันธุ์ สารเคมีรวมไปถึงระบบอาหาร

นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ควรศึกษาเพิ่มในเรื่องทางเลือกของการทำเอฟทีเอตั้งแต่ควรทำหรือไม่ควรทำไปจนถึงควรทำในประเด็นอะไรบ้างและทำไปเพื่ออะไร นอกจากนี้จะนำเสนอผลการศึกษานี้ไปยังรัฐบาลที่ถึงแม้ปัจจุบันจะกำลังเจรจาเอฟทีเออยู่ที่เชียงใหม่ แต่ในกระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดยังมีอีกหลายขั้นตอนที่เปิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนเสนอข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์เข้าไปร่วมพิจารณาได้อีก

ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า  จากผลการศึกษานี้สภาที่ปรึกษาฯ มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่ารัฐบาลควรพักการเจรจาทางการค้า (Delay) ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำได้หากพิจารณาแล้วว่ายังไม่เห็นประโยชน์จากการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ และในปัจจุบันอียูเร่งรัฐให้รัฐบาลไทยเร่งการทำเอฟทีเออาจจะเป็นเพราะทางกลุ่มอียูกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2551 และยังไม่เห็นแนวทางการฟื้นฟูที่แน่ชัด

ด้านนายบุญส่ง ฟักทอง สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าอยากให้มีการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ไปยังกลุ่มเกษตรกรให้ทั่วถึงเพราะจะเป็นกลุ่มที่กระทบมากที่สุด เช่นในปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แล้วจากกรณีราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำเพราะไปถูกจัดอยู่ในพืชประเภทไม่อ่อนไหว แต่ในความเป็นจริงมีความอ่อนไหวมากเพราะมาเลเซียปลูกได้ดีกว่าทำให้ต้นทุนต่ำ ราคาถูกกว่า ในขณะที่ไทยมีต้นทุนสูงกว่าทำให้ตอนนี้ที่เปิดเอฟทีเอทำให้ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำมาก
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles