ตำรวจปราบจลาจลกัมพูชายิงแก๊สน้ำตาสกัดผู้ชุมนุมฝ่ายค้านที่เริ่มชุมนุม 3 วัน 3 คืนประท้วงเลือกตั้งไม่ชอบมาพากล และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย หลังจากเมื่อช่วงเย็นตำรวจปราบผู้ประท้วงที่รวมตัวกันทางตอนใต้ของพนมเปญ ล่าสุดพรรครัฐบาลระบุจะเจรจารอบใหม่กับฝ่ายค้านที่รัฐสภา หลังจากก่อนหน้านี้ทั้งสองพรรคได้ร่วมการเจรจาที่กษัตริย์นโรดม สีหมุนีเป็นผู้เชิญ
ล่าสุดวันนี้ (15 ก.ย.) ผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านได้นัดหมายชุมนุมกันที่ลานประชาธิปไตยในกรุงพนมเปญ อย่างไรก็ตามเกิดการสลายการชุมนุมขึ้นในช่วงเช้า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปทางพระราชวังเขมรินทร์
ทั้งนี้พนมเปญโพสต์ ทวีตด้วยว่า มีรถบรรทุกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) ประจำกัมพูชา ได้เคลื่อนรถเข้ามาประจำการใกล้กับแนวลวดหนามด้านที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ UNOHCHR ได้มีการหารือกันถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย [1], [2]
โดยหลังจากนั้นสม รังสี ได้ปราศรัยกับผู้ชุมนุมให้หยุดการใช้ความรุนแรง และถ้าไม่แยกย้ายกลับบ้าน ก็ให้ไปรวมตัวกันอยู่ที่ลานประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพื้นที่จัดการชุมนุม [3]
ทั้งนี้โธมัส คริสโตโฟเลตติ ช่างภาพอิตาลี ได้บันทึกภาพการชุมนุมและการสลายผู้ชุมนุมในวันนี้ (15 ก.ย.) และเผยแพร่ในเว็บ ruom.net ด้วย (คลิกเพื่อชมภาพ 1และ 2)
นอกจากนี้ในช่วงเย็นยังมีรายงานด้วยว่า ห่างออกไปจากพื้นที่ประท้วงหลักไปทางทิศใต้ 5 กม. บริเวณสะพานข้ามแยกกบาล ธนัล จุดตัดของทางหลวงหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ทางตอนใต้ของกรุงพนมเปญ ทำให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บหลายราย โดยพนมเปญโพสต์ ได้ทวีตยืนยันการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม 1 ราย ที่จุดดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ การปะทะจนมีผู้เสียชีวิตดังกล่าว เกิดขึ้นหลังตำรวจปราบจลาจลซึ่งมีไม้กระบองเข้าปราบผู้ประท้วงที่ขว้างก้อนหินอยู่ใกล้กับสะพานข้ามแยก ห่างจากพื้นที่ประท้วงหลัก 5 กม. โดยเอเอฟพี รายงานคำให้สัมภาษณ์ของอู วิรัก ประธานศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชา ที่ระบุว่าผู้เสียชีวิตถูกยิงเข้าที่ศีรษะ แต่ไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ยิง ส่วนโฆษกสารวัตรทหารกัมพูชาได้ให้สัมภาษณ์ว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีกระสุนจริง โดยยืนยันว่าใช้เพียงโล่และกระบอง
ทั้งนี้ผู้ใช้งาน Instagram ที่ใช้นามว่า "jeriko1kenobi"รายหนึ่ง ได้เผยแพร่ภาพของชายคนหนึ่งที่เชื่อว่าเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม โดยระบุว่าพื้นที่เกิดเหตุอยู่บริเวณตอนใต้ของกรุงพนมเปญด้วย
ส่วนความเคลื่อนไหวของรัฐบาลนั้น สำนักข่าวแห่งกัมพูชา (AKP) รายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษา เยาวชน และกีฬา (MoEYS) ประกาศเลื่อนการจัดการสอบของนักเรียนมัธยมต้นออกไปเป็นเวลา 10 วัน จากเดิม 16 - 17 ก.ย. เลื่อนเป็น 26 - 27 ก.ย.
ทั้งนี้ สำนักข่าวแห่งกัมพูชา (AKP) รายงานด้วยว่า กองอำนวยการด้านความมั่นคงสำหรับการเลือกตั้ง (PSCCE) ได้เผยแพร่แถลงการณ์เมื่อวันที่ 14 ก.ย. เรียกร้องให้พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) และผู้สนับสนุนเคารพกฎหมายและจัดการชุมนุมอย่างสันติ ในแถลงการณ์ยังแสดงความไม่เห็นด้วยที่พรรคฝ่ายค้านประกาศว่าจะชุมนุม 3 วัน 3 คืน แม้ว่าสมเด็จนโรดม สีหนุ ได้เรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหาของชาติ
ส่วนความคืบหน้าล่าสุด สำนักข่าวแห่งกัมพูชา (AKP) รายงานด้วยว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) และพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ตกลงที่จะเจรจากันรอบใหม่ในวันจันทร์นี้ (16 ก.ย.) ทั้งนี้ แถลงการณ์ของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ระบุว่าจะมีการเจรจากันในเวลา 9.00 น. ที่รัฐสภา และยังอ้างว่าพรรคประชาชนกัมพูชาปฏิบัติตามคำแนะนำของกษัตริย์นโรดม สีหมุนี
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี กษัตริย์กัมพูชาได้เชิญฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ผู้นำพรรคประชาชนกัมพูชา (CCP) และสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) มาหารือที่พระราชวังเขมรินทร์ แต่การหารือดำเนินไปได้ 20 นาทีก็ยุติโดยที่ยังไม่มีข้อสรุป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) กระทั่งพรรคประชาชนกัมพูชาออกแถลงการณ์มาว่าจะมีการหารือรอบใหม่ในวันที่ 16 ก.ย. ดังกล่าว
ทั้งนี้สมเด็จนโรดม สีหมุนี พยายามที่จะมีบทบาทเช่นเดียวกับพระบิดา คือสมเด็จนโรดม สีหนุ กษัตริย์พระองค์ก่อนที่มีบทบาทยุติสงครามกลางเมืองกัมพูชาได้ใน พ.ศ. 2534 ตามมาด้วยการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2536
สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดิมชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2524 โดยนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี และประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) เกิดจากการรวมกันของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา 2 พรรคคือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งแต่กลางปี 2555 และจะร่วมกันแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมนี้
โดยเมื่อ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา กษัตริย์นโรดม สีหมุนีของกัมพูชาได้พระราชทานอภัยโทษให้กับ สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศมาร่วม 4 ปี โดยผู้ขอพระราชทานอภัยโทษคือฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และต่อมาสม รังสีได้เดินทางกลับพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 19 ก.ค. และหลังจากกลับมาแล้ว เขาได้เข้ามาช่วยลูกพรรคหาเสียง แม้ว่า กกต.กัมพูชา จะระบุว่าเขาขาดคุณสมบัติที่จะสมัครเป็นผู้แทนก็ตาม