กระทรวงพาณิชย์ระบุขยายสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับบังกลาเทศจากเดิมสิ้นสุดสัญญาปี 2556 เป็นสิ้นสุดปี 2559 ระบุบังกลาเทศเฉลี่ยนำเข้าข้าวจากไทยปีละ 1.78 แสนตัน ขณะเดียวกันไทยเตรียมลงนาม MoU จ้างแรงงานบังกลาเทศทำประมง 50,000 ตำแหน่ง
(ที่มาของภาพ สำนักข่าวไทย/แฟ้มภาพ)
ไทย-บังกลาเทศขยายสัญญาขายข้าวระหว่างรัฐบาลอีก 3 ปี จนถึงปี 2559
โดยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า กรอบข้อตกลงเดิมแบบกว้าง ๆ รัฐบาลไทยและรัฐบาลบังกลาเทศตกลงที่จะซื้อขายข้าวนึ่งปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี โดยมีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตข้าวของแต่ละประเทศ และระดับราคาซื้อขายตามตลาดโลก โดยจะมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานดำเนินการ ในขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศจะมอบหมายให้หน่วยงานอาหารภายใต้กระทรวงอาหารเป็นหน่วยงานดำเนินการ
สำนักข่าวไทย ระบุว่า ทั้งนี้ ในปี 2554 กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวนึ่งแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับรัฐบาลบังกลาเทศ ปริมาณ 200,000 ตัน แต่ในปี 2555 บังกลาเทศยังไม่ได้มีการนำเข้าข้าวจากไทย เพราะไม่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ แต่ในปีนี้อยู่ระหว่างสำรวจปัญหาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งหากภายในช่วงเดือนเมษายนนี้ประสบภัยธรรมชาติอีกจะต้องมีการนำเข้าข้าว และมีแนวโน้มว่าบังกลาเทศอาจนำเข้าข้าวจากไทย และต้องการให้ไทยเป็นแหล่งนำเข้าข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว โดยบังกลาเทศมีประชากรมากกว่า 160 ล้านคน ซึ่งในแต่ละปีมีความต้องการบริโภคในประเทศปริมาณ 35 ล้านตัน โดยในแต่ละปีบังกลาเทศนำเข้าข้าวจากไทยเฉลี่ยปีละประมาณ 178,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวนึ่ง ข้าวขาว 100% และข้าวหอมมะลิไทย
สำนักข่าวไทย รายงานโดยอ้างคำยืนยันของนายบุญทรงที่ว่ากระทรวงพาณิชย์ยังสามารถคืนเงินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามแผน โดยล่าสุดกรมการค้าต่างประเทศรายงานผลการคืนเงินไปแล้ว 110,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าการระบายข้าวในปีนี้จะเป็นไปได้ตามแผน และสามารถส่งเงินคืนได้ตามเป้าหมาย
เตรียมลงนาม MoU นำแรงงานบังกลาเทศทำงานภาคประมง
ขณะเดียวกัน Daily Sunรายงานเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า บังกลาเทศจะลงนามในข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับไทยในการส่งแรงงานชาวบังกลาเทศ 50,000 คนมาทำงานในภาคประมงของไทยด้วย ทั้งนี้จากคำกล่าวในรัฐสภาของรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการของผู้ย้ายถิ่นไปต่างประเทศ และแรงงานต่างประเทศของบังกลาเทศ คันดาเกอร์ โมชาราฟ ฮุซเซน โดยขณะนี้สถานทูตบังกลาเทศในกรุงเทพฯ กำลังอยู่ในระหว่างร่าง MoU ในขั้นตอนสุดท้าย
โดยค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานบังกลาเทศทั้งหมดจะอยู่ที่ 40,000 ตากา หรือราว 24,800 บาท ซึ่งรวมค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าตรวจสุขภาพ ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่าธรรมเนียม และภาษีรายได้ รวมทั้งค่าฝึกอบรม