ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา มีการฉายและมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์ในงาน "หนังน่าจะแบน"โครงการประกวดภาพยนตร์สั้นซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 40 เรื่อง จัดโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ร่วมกับไบโอสโคป เครือข่ายคนดูหนัง และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ และได้รับการเอื้อเฟื้อสถานที่จากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
000
"อัคร ปัจจักขะภัติ"ผู้กำกับ "เจ็บปวด"
ภาพยนตร์เรื่อง "เจ็บปวด"ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด "หนังน่าจะแบน"และไม่ได้ฉายในวันประกาศผล
แนวคิดของภาพยนตร์ "เจ็บปวด"
มีคีย์เวิร์ด 2 คีย์เวิร์ดใหญ่คือ คำว่า "รัก"และคำว่า "เจ็บปวด"โดยโยนคำถามไปที่ตัวภาพยนตร์ว่าความรักมักจะเรียกร้องความเจ็บปวดจริงไหม การแสดงออกถึงความรัก และการแสดงออกถึงความเจ็บปวด ประเด็นของหนัง ผมเริ่มตั้งคำถามตั้งแต่ตอนที่ผมสูญเสียคนใกล้ตัว ซึ่งผมสังเกตว่าคนรอบตัวผมหลายๆ คนล้วนเคยสูญเสียคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท หรือแฟน แล้วเวลาเกิดขึ้นก็ค่อนข้างเจ็บปวดพอสมควร แล้วโลกมิติทุกอย่างในชีวิตมันค่อนข้างพัง แต่เวลาเราผ่านมาประสบการณ์นั้นมาได้ มันทำให้เราแข็งแรงขึ้น ผมก็เลยนำประเด็นนี้มาทำเป็นภาพยนตร์ แล้วตั้งคำถามว่าถ้าเราสูญเสียเสาหลักของครอบครัว ของสังคมไป แล้วชีวิตเราจะเป็นอย่างไรต่อไป
ใช้เวลาในการเตรียม ในการผลิตเพื่อส่งเข้าประกวดนานไหม
ไม่นานมากครับ เพราะว่าประเด็นที่ทำคิดไว้อยู่แล้วก่อนที่จะรู้โครงการนี้ พอเห็นโครงการนี้ก็ปรับตัวละครนิดหน่อย การถ่ายค่อนข้างเป็นสารคดี แนะนำคร่าวๆ ว่าจะเล่าประมาณไหน พี่ๆ ที่มาช่วยแสดงก็สด ผมก็ใช้วิธีบันทึก ตัดต่อ เรียบเรียงใหม
ภาพยนตร์ไม่ได้มีการฉาย แต่ได้รางวัลชนะเลิศ ความรู้สึกว่าไม่ได้ฉายในงานเทศกาลรู้สึกอย่างไร
รู้สึกแปลกมากๆ เพราะมันมีหลายรางวัลใช่ไหมครับ คือผมก็ถอดใจ เพราะเขาบอกว่าจะฉายซ้ำอีกรอบ แต่ของผมไม่ได้ฉาย แต่ว่ามีการฉายก่อนหน้านี้ในรอบพิเศษ คือกรรมการและคนอื่นๆ กลุ่มหนึ่งได้ดูอยู่ แต่เขาก็เสียวประเด็นทางกฎหมาย เขาเลยตัดสินใจที่จะยังไม่ฉายดีกว่า
คิดอย่างไรกับคำว่าเซ็นเซอร์ การห้ามฉาย ในวงการภาพยนตร์ไทย อยากฝากอะไรถึงผู้ผลิตภาพยนตร์ในประเทศ
ผมเชื่อว่าคนสร้างหนัง สร้างหนังมาเขาก็อยากให้คนดูอยู่แล้ว แต่ของเราติดปัญหากฎหมาย กฎหมู่ กฎหลายกฎที่ไม่ make sense และตัวบทกฎหมายก็ค่อนข้างชัดเจน กว้างๆ คลุมๆ ผมคิดว่ากรรมการควรจะมี แต่ควรเป็นคนในวงการหนังเองที่รู้เรื่องหนังจริงๆ และมีอะไรที่ชัดเจนกว่านี้ และการแบนก็ไม่ควรมี เรตติ้งต้องมีอยู่แล้ว แต่การแบนไม่ควรจริงๆ
การแบนภาพยนตร์ ส่งผลกระทบอย่างไร
มันเสียโอกาสตรงที่ว่า มันเสียพื้นที่ด้วย บางทีเรามีประเด็นที่ชัด แต่เราคิดว่าจะโดนเกลียดไหม พ่อแม่ถ้าได้ดูล่ะ หรือเพื่อน หรือสังคม จะโดนกฎหมาย จะโดนฟ้องไหม คือเรื่องมันจะเยอะ ประเทศเราติดอะไรแบบนี้ค่อนข้างเยอะ หยุมหยิมไปหน่อย เพราะว่าความไม่ชัดเจนนี่แหละครับ
000
"สรยศ ประภาพันธ์"ผู้กำกับ "คิม"
แนวคิดของภาพยนตร์เรื่อง "คิม"
มันเป็นสารคดีเก๊ หรือ Mockumentary เหมือนสัมภาษณ์ความจริง แต่ Set Up บททั้งหมด ฟอร์มจะเป็นแบบนั้น
แต่ไอเดีย คอนเซ็ปต์จะจิกกัดการเซ็นเซอร์ของประเทศ ว่าทำไมหนังต้องเซ็นเซอร์ เคเบิลท้องถิ่นบางอันก็มีตัวรายการที่เรียกว่าอะไรดี เสี้ยม หรือใส่ไฟอีกข้างโดยไม่รู้ว่าหลักฐานที่เอามาโชว์นั้นจริงหรือไม่จริงขนาดไหน ไม่เห็นมีใครไปจำกัดสิทธิ หรือเซ็นเซอร์รายการทีวี แต่ทำไมหนังถึงโดน จะเป็นบทสนทนาถาม-ตอบ คิดอย่างไรกับการเซ็นเซอร์
ช่วง Ending sequence มีการถามคนถูกสัมภาษณ์ว่า ทำไมถึงมีการแบนอยู่ล่ะ คนตอบก็ตอบว่า นั่นดิทำไมถึงแบน ทำตัวโคตรเผด็จการ เกาหลีเหนือหรือเปล่า ตอนจบเลยหยิบฟุตเทจของเกาหลีเหนือมา เป็นช่วงที่คิม จอง อิล เสียชีวิต
ความรู้สึกที่ภาพยนตร์ไม่ได้ฉายในเทศกาลหนังน่าจะแบน
รู้สึกแปลก (หัวเราะ) โครงการชื่อ "หนังน่าจะแบน"ทำเพื่อล้อกับเซ็นเซอร์ แต่สุดท้ายก็ตัวหนังผมเองถ้าฉายไปอาจไม่ปลอดภัย คือตัวกฎหมายปลอดภัย แต่ว่าคนตีความตีให้ผมไม่ปลอดภัยได้ก็เลยเป็นจุดอันตราย
มองการเซ็นเซอร์ การห้ามฉายภาพยนตร์ในเมืองไทยอย่างไร
เราโดนเซ็นเซอร์กันเยอะ ทุกวันนี้เราก็ self-censorship กันเยอะ ผมเองทำเรื่องนี้ก่อนทำก็ self-censorship แล้ว ทำเสร็จก็ถือว่าไม่ยอมฉายด้วยตัวเอง เพราะว่าถ้าฉายก็จะเป็นความผิดของผมและไอลอว์ ด้วย ผมก็เซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการไม่ฉายด้วย ผมก็ไม่รู้สึกดี
มีแผนที่จะตัดต่อหรือรีเมคหรือไม่
คิดว่าไม่รีเมคแน่ๆ แต่ว่า คือปกติหนังสั้นของผมเรื่องอื่นๆ ผมโฟกัสไปต่างประเทศเยอะนะ อย่างเรื่องก่อนก็ไป 7-8 เทศกาลเมืองนอก แต่ว่าเรื่องนี้ ผมออกแบบให้คนไทยดูมากๆ บริบทมันไทยมาก คนไทยดูแล้วจะตลก ฝรั่งดูหรือคนที่ไม่มีพื้นฐานเดียวกับเราดูจะไม่ตลกเท่าเรา แต่ก็เป็นชอยส์ มันอาจจะถูกฟ้องร้องถ้าฉายในประเทศนี้ แต่ถ้าฉายประเทศอื่นมันจะไม่ถูกฟ้องร้อง ก็อาจจะทำซับไตเติล แต่ยังไม่ได้โฟกัสเรื่องนี้ว่าจะฉายอย่างไร ที่ไหน
000
(คุยกับผู้กำกับหนังเกือบไม่ได้ฉาย)
"ชนาธิป วงศ์พลตรี"ผู้กำกับ "ไชโย"
ภาพยนตร์เรื่อง "ไชโย"ได้รับรางวัล "ขวัญใจคนรักหนัง"จากการให้คะแนนของคณะลูกขุน โดยก่อนหน้านี้ผู้จัดงานเกือบไม่ให้คะแนนดังกล่าว
แนวคิดของการทำภาพยนตร์
ถ้าสังเกตในหนังจะมีเรื่องเพลงชาติไทย ที่นำเนื้อมาตีความเป็นภาพแบบเฟรมภาพเดียว โดยพูดถึงความรุนแรงในประเทศตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษว่าในสมัยก่อน ได้เสียสละเลือดเนื้อชีวิต ทุกวันนี้เรากำลังสู้กับอะไร เราสู้เพื่ออะไรอยู่ ทำไมเราต้องมาสู้กันเอง
โดยวิถีถ่ายจะใช้ความพิถีพิถัน ถ่ายแบบ long take ไม่สั่งตัดเลย จะต้องการวางกล้อง จัดคิวนักแสดง ทุกอย่างมีเวลาจำกัด ต้องวางตัวละคร แม้จะใช้เวลาซ้อมไม่กี่วัน แต่ถือว่าเราก็ทำได้ดี
แนวโน้มว่าจะไม่ทำภาพยนตร์มาฉาย แต่ในที่สุดก็มีการฉายในวันนี้
มันเป็นความเหนื่อยใจด้วย ที่เรารู้สึกว่าเราใส่ใจกับงาน เรารักงาน เราไม่ได้จะทำเพื่อหวังผลรางวัล วันนี้รางวัลที่ได้มาคือรางวัลที่เราตั้งใจจริงๆ เพราะเราอยากทำหนังให้คนได้ดูจริงๆ ไม่ได้หวังเพียงจะได้รางวัล หรือทำออกมาแล้วดูยาก คำถามเรื่องที่จะเอาหนังมาฉายหรือไม่ มันเป็นความคาบเกี่ยวระหว่างความคิดของแต่ละคนที่ดูหนัง ที่เราทำหนังทำออกไป ไม่ได้ใช้คำพูดในหนังด้วย คนดูอาจจะตีความได้หลายแบบ โดยที่เราไม่ได้สื่อสาร หรือบอกสารของเราไป ทางคณะกรรมการดู ก็เกิดการถกเถียงว่าจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า แต่จริงๆ หนังเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ภาพรวมๆ คนถ้าดูแบบตั้งใจดูจริงๆ มันจะไม่มีทางเบี่ยงเป็นประเด็นอื่นได้เลย
มองเรื่องการเซ็นเซอร์ การห้ามฉาย
มันแย่มานานมาก ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค เรารู้สึกว่าบางอย่างมันถูกบอกโดยคนๆ หนึ่ง ทั้งที่เรามีสิทธิที่จะเสพสิ่งที่เราอยากเสพ มันคือความไม่ชัดเจน ของทั้งกองเซ็นเซอร์ ผลมันออกมาบางเรื่องน่าจะได้ฉายก็ไม่ได้ หนังบางเรื่องไม่น่าจะได้ มันไม่มีความชัดเจนเพียงพอในสิ่งที่เขาแสดงออกมา