Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

40 ปี ประวัติศาสตร์รัฐประหาร 9/11 ในชิลี

$
0
0

เหตุการณ์รัฐประหารโดยนายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว กลายเป็นหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ของประเทศละตินอเมริกา มีการเดินขบวนเพื่อรำลึกถึงเหยื่อจากการปกครองเผด็จการทหาร และจาก 40 ปี ที่ผ่านมา ขบวนการทางสังคมในชิลีได้เรียนรู้อะไรบ้าง

11 ก.ย. 2013 - วันนี้เมื่อ 40 ปีที่แล้วในชิลี นายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ ผู้นำเผด็จการทหารได้ทำการรัฐประหารโค่นล้มซัลวาดอร์ อัลเลนเด ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ตามมาด้วยการปกครองในระบอบเผด็จการที่ได้ชื่อว่าโหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา

ช่วงระหว่างที่ปิโนเชต์ปกครองประเทศมีผู้คนมากกว่า 3,000 คนถูกสังหารหรือหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย มีหลายพันคนถูกทรมานและอีกราวหนึ่งล้านคนถูกเนรเทศ แต่ต่อมาก็มีกลุ่มขบวนการทางสังคมต่อสู้เพื่อโค่นล้มเผด็จการลงได้ โดยในปี 1998 มีขบวนการเคลื่อนไหว "โหวตไม่เอาปิโนเชต์"โดยการทำประชามติ ซึ่งประสบความสำเร็จโดยมีผู้โหวต "ไม่เอา"จำนวนร้อยละ 55.99 ทำให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งและปีโนเชต์ก็ยอมลงจากตำแหน่งในปี 1990

แม้ว่าการจัดพิธีรำลึกครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์รัฐประหารในชิลีอาจไม่ได้รับความสนใจมากเท่าความขัดแย้งในประเทศตะวันออกกลางโดยเฉพาะในซีเรีย แต่จาเวียร์ ซูนีกา นักสิทธิมนุษยชนชาวเม็กซิกันและที่ปรึกษาพิเศษขององค์กรแอมเนสตี้สากลกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลีเมื่อ 40 ปีที่แล้วส่งผลสะเทือนต่อโลก ทำให้เกิดความเข้าใจ่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทั้งในและนอกชิลี

คาร์ลอส เรเยส-มานโซ เป็นผู้ที่เคยถูกจับกุมและทรมานในช่วงที่ปิโนเชต์ปกครองประเทศ ซึ่งก่อนหน้าการรัฐประหารเขาเคยทำงานให้กับรัฐบาลพรรคสังคมนิยมของอัลเลนเด เขาเล่าเหตุการณ์ช่วงรัฐประหารว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก มีทหารบุกเข้าไปยังอพาร์ทเมนต์ของเขาแต่เขาออกไปประชุมอยู่ ทำให้เรเยส-มานโซ พยายามหลบหนีไปยังที่ทำการพรรคใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดี เขาบอกว่าระหว่างทางมีศพอยู่ตามท้องถนนจากการที่ทหารยิงสังหารประชาชน และไม่นานนักก็จุดไฟเผาที่ทำการพรรค

เหตุการณ์รัฐประหารในวันนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากรัฐบาลริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐฯ ซึ่งจบลงด้วยการที่อัลเลนเดตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองขณะที่ทหารกำลังบุกเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดี หลังจากนั้นเรเยส-มานโซ ก็ถูกจับและถูกทรมานเป็นประจำ

ซูนีกา นักสิทธิมนุษยชนบอกว่าผู้ทรมานนักโทษในยุคนั้นทำไปเพราะเชื่อว่าพวกเขากำลังปกป้องประเทศ ขณะที่เรเยส-มานโซ ในปัจจุบันยังไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ทรมานถึงเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ทางด้านสำนักข่าวอัลจาซีรากล่าวถึงการครบรอบ 40 ปี รัฐประหารชิลีในมุมมองการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการต่อสู้ทางการเมืองและขยับขยายมาเป็นการเรียกร้องการศึกษาฟรีและปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมที่ถูกจัดตั้งโดยเผด็จการ

เยอโก ลูเบริก ประธานสหพันธ์นักศึกษาของชิลีในปี 1984 เปิดเผยว่า ขบวนการทางสังคมในชิลีนำกลับมาปรับใช้ได้ยาก แต่ประชาชนก็เริ่มหาพื้นที่ต่างๆ ในการต่อต้านซึ่งมาจากคนในโรงงาน สลัม และมหาวิทยาลัย

ลูเบริกกล่าวอีกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในขบวนการต่อสู้ในชิลีช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ คือการที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นทำให้สามารถเคลื่อนขบวนการได้ง่ายขึ้นและพวกเขาไม่จำเป็นต้องมีผู้นำขบวน

ขณะที่กาเบรียล บอริก ผู้นำนักศึกษาของชิลีในยุคปัจจุบันบอกว่าสิ่งที่พวกเขาต้องระวังในยุคปัจจุบันคือการสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลของฝ่ายซ้าย

"สิ่งหนึ่งที่สร้างความเสียหายต่อการเมืองของฝ่ายซ้ายทั่วโลกคือลัทธิบูชาตัวบุคคล"บอริกกล่าว "พวกเราควรจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ด้วยความมีวิจารณญาณ หาด้านดีของมันมาใช้ แต่ก็มองเห็นด้านไม่ดีและทิ้งสิ่งที่ใช้ไม่ได้ในปัจจุบันไป พูดง่ายๆ คือเราไม่ควรมัวแต่โหยหาอดีต"

 


เรียบเรียงจาก

Chile's 9/11: Survivors recall horrors of Pinochet coup, 40 years on, CNN, 11-09-2013
http://edition.cnn.com/2013/09/11/world/americas/chile-coup-anniversary-40

40 years after Chile's 9/11, Aljazeera, 11-09-2013
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/09/2013911112837142649.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles