ระบุแสดงความไม่เป็นประชาธิปไตยและขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและฝ่ายนิติบัญญัติ ร้องผู้เสนอแก้ไขกม.ชี้แจงรายละเอียดต่อสาธารณะให้ชัดเจน
1 เม.ย. 56 - กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญม.190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ของนายประสิทธิ์ โพธิสุธน ร่วมกับส.ว. และส.ส. 314 คน โดยตัดสาระสำคัญของมาตราดังกล่าวโดยเฉพาะลักษณะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เข้าข่ายต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ เห็นว่า จะเป็นการตัดช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง และเรียกร้องให้ผู้เสนอร่างการแก้ไข ชี้แจงโดยละเอียดกับสาธารณชนให้เร็วที่สุด
0000
แถลงการณ์ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)
“แก้รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยต้องไม่ถดถอย ประชาชนไม่ถูกเบียดขับ บทพิสูจน์มาตรา 190”
ตามนายประสิทธิ โพธิสุธน ได้ร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 314 คน เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ โดยตัดสาระสำคัญของมาตราดังกล่าวโดยเฉพาะลักษณะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เข้าข่ายต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา กล่าวคือ หนังสือสัญญาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ, หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต่อจากนี้ไป ไม่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภานั้น
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ เห็นว่า การแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้หลักการประชาธิปไตยถดถอย และต้องดำเนินการอย่างเปิดกว้างและมีส่วนร่วมจากประชาชน
ที่ผ่านมา มาตรา 190 เกิดขึ้นมาเนื่องจากปัญหาที่สะสมอย่างยาวนานจากการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่แสดงอย่างชัดเจนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยและขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เพียงแต่นักวิชาการเท่านั้นแต่ภาคประชาสังคมในวงกว้างก็มีจุดยืนต้องการเห็นกระบวนการที่ สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นโดยตั้งอยู่บน 3 หลักการสำคัญ คือ 1. บทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ 2.ความโปร่งใส-ตรวจสอบได้ และ 3. การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพการเจรจา
อย่างไรก็ตามสาระของ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ของ ส.ว.และ ส.ส. 314 คน ดังกล่าว เป็นการทำลายกระบวนการประชาธิปไตยซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย ถึงแม้ในร่างแก้ไขฯ จะเขียนให้ออกกฎหมายลูก ภายใน 1 ปีและเขียนรายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล ก็ไม่มีความหมายใดๆ เพราะไม่มีข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องรับฟังหรือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้ง หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันทางงบประมาณ ผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ก็จะไม่เข้าข่าย จึงเท่ากับเป็นเขียนหลอกประชาชนให้รู้สึกดีขึ้น น่าเป็นห่วงว่า ส.ส.จากรัฐบาลทั้งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกลับมีทัศนะรังเกียจการมีส่วนร่วมของประชาชน เข้าข่ายเป็นประชาธิปไตยถดถอย
การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในสาระเช่นนี้ จะเป็นการสร้างอำนาจผูกขาดให้กับฝ่ายบริหาร โดยปิดพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วม และตัดบทบาทของรัฐสภาออกไปโดยเกือบสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่เมื่อครั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ เสนอกฎหมายลูกเข้าสู่สภาเมื่อ พ.ค.2553 ส.ส.พรรคเพื่อไทยเคยวิพากษ์ในสภาอย่างเผ็ดร้อน ถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลในขณะนั้น ที่ตัดหนังสือสัญญาเงินกู้ ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 จนทำให้รัฐบาลในขณะนั้น ต้องถอนร่างกฎหมายลูกในที่สุด
ข้อกล่าวหาที่ว่า มาตรา 190 ทำให้การเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ล่าช้านั้น เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย ไม่เป็นความจริง จากงานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า หากมีการตราพระราชบัญญัติตามมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะสามารถแก้ไขและคลี่คลายข้อจำกัดที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังสามารถแก้ไขปัญหาการใช้มาตรา 190 มาเป็นอาวุธทิ่มแทงพรรครัฐบาลได้ แต่ความเป็นจริงนี้ไม่พูดถึง เนื่องจากแท้ที่จริงชนชั้นนำทุกฝ่ายต้องการฉวยโอกาสเบียดขับประชาชนออกไปจากพื้นที่ทางนโยบาย
ดังนั้น กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ ขอให้ทุกฝ่ายมองเรื่องมาตรา 190 ว่า ไม่ใช่การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างพรรคหรือการขับเคี่ยวกับฝ่ายค้าน แต่เป็น การต่อสู้ระหว่างประชาชนกับชนชั้นนำทุกฝ่ายที่สมประโยชน์กัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมที่จะกระทบกับประชาชนโดยตรงในวงกว้าง จึงขอเรียกร้องให้ผู้เสนอแก้ไขมาตรา 190 ออกมาชี้แจงโดยละเอียดและแลกเปลี่ยนกับภาคประชาชนในที่สาธารณะโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ การแก้ไขหรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่ประชาชนชาวไทย หรือผู้แทนปวงชนชาวไทยย่อมกระทำได้ภายใต้หลักการประชาธิปไตย และด้วยเจตจำนงค์ที่จะผลักดันให้รัฐธรรมนูญเป็นกรอบการปกครองเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรผูกขาดแค่ในรัฐสภาเพียงองค์กรเดียว เนื่องจากฝ่ายการเมืองเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง การแก้ไขจึงไม่ควรเป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นกระบวนการแก้ไขและปรับปรุงรัฐธรรมนูญ จะต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะต้องประกอบไปด้วย ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ กลุ่มประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้จะต้องจัดให้มีการศึกษาอย่างรอบคอบและจัดรับฟัง ความคิดเห็นประชาชนเจ้าของประเทศอย่างกว้างขวางและทั่วถึงในทุกภูมิภาค รวมทั้งนำความคิดเห็นนั้นมาประกอบกับเนื้อหาการแก้ไขฯ เพื่อให้รัฐสภามีมติต่อไป ทั้งนี้ นอกจากนี้ หากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการปรับเปลี่ยนในสาระสำคัญจะต้องจัด ให้มีการลงประชามติรายมาตรา
เมื่อดำเนินการเช่นนี้แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับได้ มิเช่นนั้นจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมต่อไปได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai