ในจีน ผู้ที่โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทในออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 5,000 ครั้งหรือถูกรีทวีตมากกว่า 500 ครั้ง จะถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 3 ปี
วานนี้ (9 ก.ย.56) ศาลฎีกา และอัยการสูงสุดของจีน ได้ออกเอกสารกำหนดแนวทางความผิดทางอาญา กรณีการปล่อยข่าวลือหรือข้อมูลเท็จในอินเทอร์เน็ต โดยมีผลบังคับใช้วันนี้
โดยผู้ที่โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทในออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 5,000 ครั้งหรือถูกรีทวีตมากกว่า 500 ครั้ง จะถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 3 ปี
นอกจากนี้ หากข้อความเท็จเหล่านี้ถูกพบว่าเป็นเหตุให้เกิดอาการป่วยทางจิต การทำร้ายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตาย ก็จะถูกตัดสินให้เป็นคดีร้ายแรง ซึ่งสามารถถูกตัดสินจำคุกถึง 3 ปีได้เช่นกัน ทั้งนี้ คดีร้ายแรงยังรวมถึงโพสต์ที่นำไปสู่การรวมตัวประท้วง ยั่วยุให้เกิดการปะทะทางเชื้อชาติหรือศาสนา ทำลายภาพลักษณ์ของชาติ หรือก่อให้เกิดผลกระทบทางลบในทางระหว่างประเทศ
นอกจากผู้โพสต์จะเจอข้อหาปล่อยข่าวลือออนไลน์แล้ว ยังอาจถูกข้อหายุยงให้เกิดความวุ่นวาย กรรโชก หรือดำเนินการทางธุรกิจที่ผิดกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ ข้อหาเหล่านี้หมายถึงเฉพาะอาชญากรรมที่เกิดขึ้นใน "พื้นที่สาธารณะ"เท่านั้น โดยยังไม่รวมถึงอินเทอร์เน็ต "ไซเบอร์สเปซก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะ"ซุน จุนกง โฆษกศาลฎีกาจีนกล่าวและว่า อินเทอร์เน็ตได้ผสานเข้ากับชีวิตจริงของประชาชนแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีการเปิดช่องให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ใช้ชื่อจริง ที่โพสต์กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่ากระทำความผิด
ซุนบอกว่า ผู้ใดก็ตามที่กล่าวหาทางออนไลน์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต แต่ข้อกล่าวหานั้นไม่จริง จะได้รับการยกเว้นข้อกล่าวหาหากพิสูจน์ได้ว่าเนื้อหาดังกล่าวไม่ได้จงใจแต่งขึ้น
ถง จื้อเหว่ย ศาสตราจารย์กฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยอีสไชน่าในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้นำจีนกำลังเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
"ด้านหนึ่ง ข่าวลือออนไลน์ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมีเสถียรภาพของสังคม แต่อีกด้านหนึ่ง อินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการรณรงค์ต่อต้านการรับสินบน"ถง กล่าว
กฎใหม่นี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสร้างความกังวลอย่างมากว่าจะกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก
"ฉันอาจจะต้องปิดอินเทอร์เน็ตซะตอนนี้เลย"ผู้ใช้เน็ตบอก "ถ้าฉันอยากเอาใครเข้าคุก ทางที่ง่ายที่สุดก็คือส่งต่อข้อความเท็จของเขาเสีย 500 ครั้ง"
โจว เจอ ทนายความสิทธิมนุษยชนในปักกิ่ง บอกว่า เขาผิดหวังอย่างยิ่งกับกฎดังกล่าว ที่มีจุดประสงค์ในการทำให้เสรีภาพในการแสดงออกอยู่ภายใต้การสอดส่อง