(9 กันยายน 56) ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 115 เสียง ไม่เห็นชอบ (ไม่มี) งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ประชุม จำนวน 120 คน จากนั้นสภาฯจะพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ ขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาที่เห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... พร้อมคาดหวังสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้า จะได้สนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมประกาศไม่เหนื่อยเปล่า ที่ร่วมมือกันผลักดันมา 15 ปี
ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ระบุว่า ผู้บริโภคและเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... นับตั้งแต่มีการกำหนดไว้ในมาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 และมาตรา 61 ในปัจจุบัน เป็นการผลักดันต่อเนื่องแบบมาราธอน มากว่า 15 ปี โดยได้มีประสบการณ์ในการหารายชื่อ 50,000 รายชื่อ และได้รวบรวม 12,208 รายชื่อในการเสนอกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งมีการรณรงค์ และการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย
ปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขของวุฒิสภา ทำให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วมของสองสภาในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ โดยในวันนี้วุฒิสภา เสียงข้างมากจำนวน 115 เสียงจาก 120 เสียง ได้เห็นชอบร่าง พรบ.ฉบับนี้ ต่างมีความหวัง ว่า กฎหมายฉบับนี้เมื่อถูกส่งไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา จะได้รับการเห็นชอบเช่นเดียวกัน
หากทั้งสองสภาเห็นชอบ จะมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาจำนวน 9 คน ภายใน 30 วัน และคณะกรรมการสรรหาต้องจัดให้มีคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายใน 180 วัน
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ นับเป็นกฎหมายที่ทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เป็นจริง มีสิทธิร้องเรียน ได้รับการการเยียวยาความเสียหาย และรวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยกฎหมายมีหลักการและสาระสำคัญหลายประการ เช่น
1) ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจากหน่วยงานรัฐและธุรกิจเอกชน โดยมีการสนับสนุนงบประมาณขององค์การไว้ที่ 3 บาท ต่อหัวประชากร
2) ให้ความเห็นต่อหน่วยงานรัฐในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
3) ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
4) เปิดเผยรายชื่อสินค้าหรือบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้
5) เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการสามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินคดีได้
6) สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนและการดำเนินคดีของของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความตื่นตัวมากขึ้น แต่การจะได้รับการคุ้มครองยังยากอยู่ โดยแม้หลายเรื่องจะดูเป็นเรื่องส่วนตัว มูลค่าความเสียหายน้อย แต่เมื่อรวมกันแล้วความเสียหายมหาศาล เช่น ค่าบริการโทรศัพท์มือถือประเภทเสียง ที่ต้องไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที ค่าบริการ 3G ที่จะต้องลดลง 15% หรือการประกันความเร็วอินเทอร์เน็ต เรื่องเหล่านี้ยังไม่เป็นไปตามที่ข้อบังคับกำหนด
"ดูเล็กๆ ไม่กี่บาท แต่เมื่อนึกถึงว่ามีหลายล้านเลขหมาย จะเห็นว่าในภาพรวมเสียหายเยอะ"สารีกล่าว
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า ที่ผ่านมา ฝั่งผู้บริโภคไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาคุ้มครองผู้บริโภคเลย ถ้าร่างนี้ผ่าน กฎหมายระบุว่า หน่วยงานรัฐจะมีมาตรการอะไรออกมา ต้องมาขอความเห็นคณะกรรมการฯ ก่อน ก็จะทำให้เกิดการดีเบตระหว่างคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะได้ไม่ต้องไปฟ้องศาล ซึ่งตนเองเห็นว่าควรเป็นมาตรการสุดท้ายที่ควรจะทำ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai