แม้ว่าข่าวความขัดแย้งในซีเรียส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยเรื่องการใช้อาวุธและตัวเลขผู้เสียชีวิต แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีกวีและนักเขียนรุ่นใหม่ออกมาสะท้อนแนวคิดความรู้สึกผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก และพวกเขาก็ดูมีความกล้ามากขึ้นกว่ายุคที่รัฐบาลควบคุมเข้มงวด
8 ก.ย. 2013 - สำนักข่าวอัลจาซีรานำเสนอเรื่องบรรยากาศการสร้างสรรค์ผลงานบทกวีในประเทศซีเรียที่ยังตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งจากสงครามกลางเมือง และเพิ่งเกิดเหตุการณ์ผู้คนจำนวนมากถูกโจมตีด้วยอาวุธเคมีทำให้หลายชาติรวมถึงสหรัฐฯ ต้องการมีมาตรการตอบโต้ แต่ผลงานด้านกวีกลับเบ่งบานขึ้น
"ทุกวันนี้มีผลงานวรรณกรมมาจากประเทศซีเรียในแบบที่พวกเราไม่เคยคิดเคยฝันมาก่อนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา"กาดา อัล-อะทรัช กล่าว เธอเป็นนักเขียนและนักแปลลูกครึ่งซีเรีย-แคนาดา ที่ทำการศึกษาผลงานบทกวีซีเรียมาหลายสิบปีแล้ว
อะทรัชกล่าวว่า ตลอดเวลาที่เธอศึกษาเรื่องบทกวีมา เธอไม่เคยเห็นผลงานชนิดใดเหมือนกับบทกวีของซีเรียที่มาจากช่วงเวลาสงครามกลางเมืองรุนแรงเช่นนี้มาก่อน
บทกวีของซีเรียช่วงสงครามกลางเมืองมีความตรงไปตรงมาและเน้นบรรยายจากความรู้สึกภายในมากกว่าการใช้อุปมาโวหารหรือให้ภาพเปรียบเปรย มีการพูดถึงอัตลักษณ์ร่วมกันของชาวซีเรียแทนการใช้สัญลักษณ์ทางศาสนา เช่นบทกวีที่อะทรัชแปล ซึ่งมีชื่อว่า "เมื่อฉันก้าวข้ามความอ่อนแอ"เขียนโดยนายัต อับดุล ซาหมัด ความว่า
"ฉันผูกผ้าพันแผลให้จิตใจฉันด้วยความแน่วแน่ของเด็กชายคนนั้น / คนที่ถูกพวกนั้นใช้แท่งช็อตไตข้างเดียวที่เขามีจนเขาปัสสาวะออกมาเป็นเลือด / แต่เขาก็ยังกลับไปและเดินไปร่วมประท้วงครั้งต่อไป... / ฉันผูกผ้าพันแผลให้จิตใจด้วยเสียงตะโกนก้องว่า 'ขอตายดีกว่าต้องถูกหยามเหยียด'"
บทกวีอีกชิ้นหนึ่งเขียนโดยยุสเซฟ บาว ยิเอีย ชื่อ "ผมคือซีเรีย"ประกาศว่า "นิกายเดียวที่ผมมีคือกลิ่นอายของบ้านเกิด กลิ่นดินชื้นหลังฝน และประเทศซีเรียคือศาสนาเดียวของผม"
นักเขียนซีเรียที่อยู่ในต่างประเทศชื่อ กิอัส อัล-จุนดี เป็นผู้ศึกษาเรื่องการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความเห็นในภูมิภาคตะวันออกกลางขององค์กรสหพันธ์นักเขียนสากล PEN เขาบอกว่าสายวัฒนธรรมของการปฏิวัติซีเรียมีความหลักแหลม บทกวีและเนื้อเพลงที่มีความงามจำนวนมากกำลังฟื้นขึ้นมาจากเถ้าถ่านความเสียหายในซีเรีย
การเผยแพร่ผลงานในโซเชียลเน็ตเวิร์ก
บทกวีในซีเรียไม่เพียงแค่มีเนื้อหาใหม่ แต่ยังมีการใช้ช่องทางเผยแพร่ต่างจากเดิมที่อาศัยการรวมกลุ่มหรืออ่านบทกวี มีกวีหน้าใหม่ที่มักจะนำเสนอผลงานครั้งแรกผ่านการประท้วงในที่สาธารณะ หรือบนเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กเช่นเฟซบุ๊ก
โมห์ยา กาฟ นักเขียนชาวซีเรียน-อเมริกัน ซึ่งเป็นรองศาสตรจารย์สอนวิชาวรรณกรรมเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลันอาร์คันซอ เคยเขียนบทความเมื่อปี 2001 ชื่อ "ความเงียบของวรรณกรรมซีเรียร่วมสมัย"ซึ่งระบุว่าความหวาดกลัว การเซ็นเซอร์จากรัฐบาล และการปราบปราม กลายเป็นลักษณะเฉพาะตัวของงานเขียนซีเรีย
"แต่ในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว"กาฟกล่าว ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งมาจากอินเทอร์เน็ตและพื้นที่โซเชียลมีเดีย "อัตลักษณ์และขบนวรรณกรรมแบบใหม่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์รอบตัวชาวซีเรียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา"
ทางด้านจุนดีกล่าวว่าเหตุที่บทกวีมีบทบาทอย่างมากในซีเรียตอนนี้เนื่องจากมีการนำบทเพลงมาใช้ในส่วนหนึ่งของการประท้วง "ประชาชนจะร้องเพลงแต่ละท่อนด้วยกันบนท้องถนน"
แม้ว่าการประท้วงอย่างสงบจะลดจำนวนลงและมีผู้เข้าร่วมน้อยลงหลังจากที่มีเหตุรุนแรงหนักขึ้น แต่การประท้วงก็ไม่ได้หายไปหมดเสียทีเดียว
อะทรัช ผู้แปลบทกวีบอกว่า เธอพบบทกวีของกวีสองคนที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ในเฟซบุ๊กและได้ติดต่อเพื่อขออนุญาตแปลผลงานของทั้งสองคน จากนั้นจึงแชร์ต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์ก และในตอนนี้ไม่มีเพียงแค่เธอเท่านั้น แต่ยังมีคนจำนวนมากที่แปลผลงานบทกวีของชาวซีเรียแล้วนำไปเผยแพร่ต่อ
ในปัจจุบันประชาชนทั้งในซีเรียและในที่อื่นๆ ต่างก็ใช้ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กในการแชร์บทกวีใหม่โดยไม่ถูกเซ็นเซอร์ ตัวกาฟเองก็เป็นผู้ควบคุมเพจเฟซบุ๊กราว 20 เพจที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของซีเรียที่ไม่ใช้ความรุนแรง
"คนหนุ่มสาวในซีเรียยุคนี้เติบโตมาพร้อมกับการมีส่วนร่วมสนทนากับคนทั้งโลก"กาฟกล่าว
แม้อะทรัชจะเชื่อว่าการประท้วงทำให้บทกวีของซีเรียกลับมามีชีวิต แต่เธอก็เชื่อว่ากำแพงภาษาทั้งกับประเทศอื่นๆ หรือแม้แต่ประเทศในตะวันออกกลางเองก็ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถเข้าถึงผลงานใหม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยประชากรซีเรียจำนวนมากในตอนนี้ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งสหประชาชาติประเมินว่า มีประชากรราว 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 3 ของประเทศกลายเป็นคนพลัดถิ่น แต่โซเชียลเน็ตเวิร์กก็กลายเป็นเครื่องมือเดียวที่นักเขียนซีเรียทั้งในประเทศและที่อยู่นอกประเทศใช้เป็นที่สื่อสาร
และแม้ว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะมีนักเขียนชาวซีเรียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่กวีที่มีชื่อเสียงของซีเรียบางคนก็ไม่ได้ร่วมแสดงผลงานผ่านพื้นที่อินเทอร์เน็ต
มาราม อัล-มาสรี กวีซีเรียที่อยู่ในกรุงปารีสบอกว่าผู้คนต่างรอคอยบทกวีต่อต้านรัฐบาลจากอะดูนิส ซึ่งหมายถึงอาลี อาห์หมัด ซาอิด เอสเบอร์ หนึ่งในกวีใหญ่ของซีเรีย
"เขาทำอะไรน้อยมากสำหรับผมและสำหรับประชาชนจำนวนมาก พวกเรารู้สึกผิดหวัง มันยังไม่มากพอ พวกเราต้องสร้างกวีชาวซีเรียยุคใหม่เพื่อแสดงความคิดเห็นของพวกเรา"มาสรีกล่าว
นักเขียนเสี่ยงอันตรายจากทั้งสองด้าน
แม้จะไม่ถูกเซ็นเซอร์ แต่ท่ามกลางสงครามกลางเมือง 2 ปีกว่าที่ยังไม่มีท่าทีคลี่คลาย กวีและนักเขียนในซีเรียก็อยู่ท่ามกลางความเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและจากกลุ่มเคร่งศาสนา
"ทั่วประเทศซีเรียมีกวีและนักเขียนหายตัวไป"จุนดีกล่าว "นักเขียนซีเรียต้องเผชิญอันตรายจากสองด้าน ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเคร่งศาสนา การเขียนหรือพูดอะไรออกมาล้วนมีความเสี่ยง"
ในเดือน มิ.ย. 2011 กวีชื่ออิบราฮิม คาชูซ ถูกลักพาตัวและสังหาร นักเขียนอีกสองคนคือ ดิอาฮ์ อัล-อับดุลลา และ ทัล อัล-มาลูฮี มีความเป็นไปได้ว่าจะถูกขังอยู่ในคุกโดยไม่มีทนาย นักเขียนอีกคนหนึ่งคือ คาเล็ด คาลิฟา ถูกทำร้ายในเดือน พ.ค. 2012 จนแขนซ้ายเขาหัก
"กวีส่วนใหญ่ที่ผมคุยด้วยรู้ว่าพวกเขาต้องเสี่ยงตาย เสี่ยงติดคุกหรือถูกเนรเทศ หากเขาเขียนความจริง"จุนดีกล่าว "และแม้ว่าพวกเขาจะหนีไปได้ พวกเขาก็อาจจะถูกสังหารในต่างประเทศ"
มาสรี กวีซีเรียในต่างประเทศก็เคยถูกข่มขู่ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เธอได้ตีพิมพ์หนังสือรวมบทกวีชื่อ 'เสรีภาพ เธอมาอย่างเปลือยเปล่า'ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากภาพและสื่อเรื่องซีเรียในโซเชียลมีเดีย เธอบอกว่าเธอถูกขู่เอาชีวิตและทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับเธอในซีเรียถูกบังคับให้ต้องหลบซ่อนตัว
"การเข้าไปในคุกซีเรียไม่ใช่สิ่งที่ทำใจได้ง่ายๆ"มาสรีกล่าว "เพราะคุณไม่รู้ว่าจะได้ออกมาตอนไหน"
นักเขียนบางคนก็ระมัดระวังตัวโดยการใช้ชื่อที่ต่างออกไปเผื่อกรณีถูกตำรวจค้น หรือไม่ก็เขียนบทกวีโดยไม่ระบุนาม ในบรรยากาศเช่นนี้จึงมีกวีรูปแบบใหม่น้อยคนนักที่จะมีชื่อเสียงได้
แต่แม้ว่าจะเต็มไปด้วยอันตราย แต่ความกลัวก็ไม่อาจควบคุมผลงานของพวกเขาอีก เพราะความรุนแรงมันชัดเจนมากในซีเรียจนกระทั่งว่าความเงียบไม่ใช่หนทางไปสู่ความปลอดภัยได้อีกแล้ว
ก่อนหน้าการลุกฮือปี 2011 แม้กระทั่งการอ่านบทกวีในที่สาธารณะซึ่งเป็นประเพณียังถูกควบคุมเซ็นเซอร์โดยรัฐบาล แต่ในตอนนี้นักเขียนชาวซีเรียกำลังขัดขืนข้อห้ามเหล่านั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ชมที่กระตือรือร้น ทำให้กวีซีเรียบางคนกล้าสื่อออกมาอย่างเต็มที่
"พวกเราเอาชนะภาพลวงแห่งความกลัวอันเก่าได้แล้ว"มาสรีกล่าว
เรียบเรียงจาก
A 'new poetry' emerges from Syria's civil war, Aljazeera, 08-09-2013
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/09/20139784442125773.html