ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพารายอมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลที่นำโดย "กิตติรัตน์ ณ ระนอง"ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ แต่ยังไม่มีข้อสรุป โดยที่ชาวสวนเสนอ 2 วิธีให้รัฐบาลรับประกันราคายางที่ 102 บาท หนึ่ง รัฐจ่ายส่วนต่างของราคา หรือ สอง รัฐรับซื้อยางพาราโดยตรง แต่นายกิตติรัตน์จะนำข้อเสนอไปหารือในที่ประชุมนโยบายยางวันนี้
ตามที่มีการชุมนุมของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และต่อมามีการชุมนุมในจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ และที่ จ.ระยอง ในภาคตะวันออก และต่อมาตัวแทนของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจำนวน 23 คน ได้ตกลงเจรจากับตัวแทนรัฐบาลเมื่อช่วงเย็นวันที่ 4 ก.ย. นั้น
ตัวแทนเกษตรกรชี้สถานการณ์บานปลายเพราะท่าทีข้าราชการรวมถึง "สุภรณ์ อัตถาวงศ์"ไม่จริงใจ
ล่าสุด มติชนรายงานว่า ช่วงเย็นของวันที่ 4 ก.ย. ตัวแทนเกษตรชาวสวนยางและปาล์มจำนวน 23 คน นำโดยนายเอียด เส้งเอียด ได้เดินทางจาก จ.นครศรีธรรมราช เพื่อมาเจรจากับตัวแทนของรัฐบาลที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยตัวแทนรัฐบาลมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในการหาทางออกให้กับปัญหายางพารา
นายเอียด ได้ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อที่ประชุม ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เลขาธิการนายกฯ ลงไปพบชาวบ้านในพื้นที่อ.ชะอวด และยื่นข้อเสนอกับเกษตรกรว่าจะประกันราคายางที่กิโลกรัมละ 80 บาท และอาจจะได้ถึง 100 บาท ทำให้ชาวบ้านมีความหวัง แต่ต่อมามีการกลับคำพูด จึงเป็นชนวนให้ชาวชะอวดไม่พอใจและมีการชุมนุมมากขึ้น นอกจากนี้ การที่นายสุภรณ์มาเจรจาก็ไม่ได้แจ้งแกนนำเกษตรกรให้ทราบ แต่กลับไปประชุมกับคนที่ไม่ใช่แกนนำและยืนยันว่า ปัญหาที่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ว่าราชการจังหวัด นำกำลังตำรวจเข้ามาเตรียมสลายม็อบเป็นตัวจุดชนวนทำให้สถานการณ์บานปลาย
นายเอียดยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นเพราะเดือดร้อนจริงๆ ไม่มีนักการเมือง หรือพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลัง แม้ที่ผ่านมา ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จะขอขึ้นเวทีปราศรัย แต่แกนนำก็ไม่ยอม นายเอียดกล่าว
นายเอียดกล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลยอมรับข้อเรียกร้องที่ให้รับประกันราคายางที่กิโลกรัมละ 102 บาท เพราะขณะนี้เข้าฤดูฝน ไม่มียางพาราออกขาย แต่จะเป็นช่องทางสร้างโอกาสให้คน การที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้เพราะไม่เข้าใจปัญหาสถานการณ์ผลิตยางในประเทศไทย การเจรจาวันนี้ขอเรียกร้องให้นายกิตติรัตน์แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา
สำหรับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังเป็นเหลนของ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) อดีตผู้ว่าราชการเมืองระนอง ซึ่งคอซิมก๊อง เป็นพี่ชายของ พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้นำยางพาราเข้ามาปลูกในพื้นที่ภาคใต้
เสนอ 2 แนวทางให้ได้ราคายางพารากิโลกรัมละ 102 บาท
สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า ตัวแทนเกษตรผู้ปลูกยางพารา ได้เสนอ 2 แนวทางให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อให้ได้ราคายางที่กิโลกรัมละ 102 บาท โดยหนึ่ง ให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างราคายางพาราในตลาด เพื่อให้เกษตรกรได้ราคายางที่กิโลกรัมละ 102 บาท สองให้รัฐบาลรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรง ทั้งนี้หากไม่สามารถดำเนินการตามที่เสนอได้ เกษตรกรชาวสวนยางจะรวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ เพื่อแสดงจุดยืนต่อไป แต่หากรัฐบาลยินดีดำเนินมาตรการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว พร้อมที่จะยุติการชุมนุมทันที ทั้งนี้ยอมรับว่า เสียใจกับรัฐบาลที่แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการเจรจา แต่ต่อจากนี้จะหารือกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุมอีกครั้ง
ขณะที่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือ กนย. ในวันนี้ (5 ก.ย.) นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า จะเสนอให้ทบทวบมาตรการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจำนวน 1,260 บาทต่อไร่ ที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 มาแล้ว และพร้อมจะนำข้อเสนอของเกษตรกรให้ กนย. พิจารณาด้วย
ส่วนสถานการณ์ชุมนุมนั้นชาวสวนยางพาราจากภาคตะวันออกได้ประกาศยุติการชุมนุม เพื่อรอการเจรจาของตัวแทนเกษตรกรกับรัฐบาล ส่วนชาวสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานี ได้เลิกมาตรการปิดถนน และยังคงชุมนุมรอฟังผลการเจรจาอยู่ที่หน้าสหกรณ์สุราษฎร์ธานี หรือ โคออป เช่นเดียวกับการชุมนุมที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ยังคงชุมนุมอยู่เช่นกัน