สภาพัฒน์ฯ สรุปรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 56 เสนอ ครม.พบการจ้างงานและรายได้เอกชนเพิ่มเล็กน้อย ส่วนเยาวชนเครียด ฆ่าตัวตายมากขึ้น ปัญหายาเสพติดยังรุนแรง และแม่วัยรุ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้น
3 ก.ย.56 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สรุปรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2556 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ใน 4 ประเด็นหลัก คือ การจ้างงานและรายได้, สุขภาพ, พฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคม และความมั่นคงทางสังคม พบการจ้างงานและรายได้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แรงงานกลุ่มเยาวชนลดลงและมีการศึกษาต่ำ เยาวชนเป็นโรคเครียดและฆ่าตัวตายมากขึ้น แนวโน้มคนในสังคมสูบบุหรี่และดื่มสุราลดลง ปัญหายาเสพติดยังคงเป็นสัดส่วนมากที่สุดของคดีอาญา เยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น และแม่วัยรุ่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
การจ้างงานและรายได้
มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 อัตราการว่างงานร้อยละ 0.73 ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การปรับค่าแรง 300 บาทและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับเวลาการทำงานให้อยู่ในช่วงเวลาปกติมากขึ้น เอกชนที่มีชั่วโมงการทำงานสูงกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดจำนวนลงร้อยละ 6.8 ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงร้อยละ 0.4
รายได้ของภาคเอกชนที่ไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ขณะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ส่งผลให้ค่าจ้างและเงินเดือนภาคเอกชนที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.5
เยาวชนที่จะเป็นแรงงานหลักในอนาคตมีแนวโน้มลดลงและส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ โดยลดลงจากร้อยละ 53.1 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 46.8 ในปี 2555 หรือมีประมาณ 4.82 ล้านคน โดยที่เยาวชนราวร้อยละ 40 ยังอยู่ระหว่างการศึกษา แรงงานกลุ่มเยาวชนร้อยละ 67.9 มีการศึกษาระดับมัธยมต้นและต่ำกว่า และร้อยละ 18.8 มีการศึกษาระดับมัธยมปลาย ขณะที่การศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.7 และ 3.9 ตามลำดับ ที่เหลือร้อยละ 3.7 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและมากกว่า
ด้านสุขภาพ
เยาวชนมีความเครียดและมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น สาเหตุความเครียดส่วนใหญ่มาจากปัญหาการเรียน โดยระดับอุดมศึกษามีความเครียดมากที่สุด รองลงมาคือระดับอาชีวศึกษา ซึ่งจะมีอาการปวดหัว ปวดท้อง หรืออาเจียน ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี มีการฆ่าตัวตายประมาณปีละ 200 คน สาเหตุจากปัญหาการเรียนและความรัก ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาพบว่า กลุ่มเยาวชนอายุ 15–24 ปี มีอัตราป่วย 62.79 รายต่อประชากรแสนคนในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 90.06 รายต่อประชากรแสนคนในปี 2554 ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราป่วยรวม 2 เท่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันร้อยละ 83
ด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคม
พบอัตราการสูบบุหรี่และดื่มสุรามีแนวโน้มลดลง จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 11.96 ล้านคนในปี 2544 เป็น 10.91 ล้านคนในปี 2552 แต่กลับปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11.51 ล้านคน ในปี 2554 ขณะที่การดื่มสุราลดลงจากร้อยละ 32.6 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 31.5 ในปี 2554
ด้านความมั่นคงทางสังคม
การจับกุมผู้ค้าและผู้เสพสารเสพติดยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดของคดีอาญาโดยรวม สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 115,228 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 55.2
การเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 9 แนวโน้มการเสียชีวิตของเยาวชนสูงขึ้น เด็กอายุ 1-15 ปี เสียชีวิตกว่าปีละ 650 ราย เยาวชนอายุ 15-24 ปี เสียชีวิตปีละ 3,600 ราย
นอกจากนี้ ยังพบการเพิ่มจำนวนของแม่วัยรุ่น โดยแม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 14.32 ของแม่ทุกกลุ่มอายุ และมีแม่วัยรุ่นจำนวนถึง 6 ใน 10 ที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุ 18 ปี และพบว่าจำนวนแม่วัยรุ่นมีความสัมพันธ์กับจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยและความยากจน โดยจังหวัดที่มีปีการศึกษาเฉลี่ยต่ำมีแนวโน้มที่จะมีแม่วัยรุ่นสูง ขณะที่จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงแนวโน้มจะมีแม่วัยรุ่นสูงด้วย ซึ่งสอดคล้องกับคุณลักษณะสำคัญของกลุ่มแม่วัยรุ่น คือ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียน/พักการเรียนร้อยละ 70, ไม่มีอาชีพร้อยละ 53.2, ขณะที่แฟนประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรร้อยละ 67.2 และประมาณร้อยละ 70 พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ตนเองหรือพ่อแม่แฟน และแหล่งค่าใช้จ่ายมาจากพ่อแม่ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและเกษตรกรที่ส่วนใหญ่มีรายได้พอใช้จ่ายไม่เหลือเก็บ