ลุ้นของบกลางเพิ่มเงินให้พนักงานมหา'ลัย
(27ส.ค.) รศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า ในการประชุมสามัญของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ขอให้นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ ช่วยของบกลางปี 2557 เพื่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆนำไปใช้ในการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงาน มหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะสำนักงบประมาณให้มหาวิทยาลัยใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยจ่ายเงินเดือน ย้อนหลังให้พนักงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 ถึง 30 กันยายน 2556 และจะตั้งงบประมาณคืนให้ในปี 2558 แต่มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่กล้านำเงินรายได้มาจ่ายให้ก่อน เพราะจะกระทบกับงบฯที่ต้องนำไปใช้พัฒนามหาวิทยาลัยในส่วนอื่นๆ ส่วนงบฯที่จะใช้จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปคงไม่ต้องห่วง เพราะรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณปี 2557 ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
“หากนายเสริมศักดิ์ ช่วยของบกลางมาเบิกจ่ายในส่วนนี้ให้ก่อน โดยไม่ต้องรอตกเบิกในปี 2558 ก็จะช่วยผ่อนคลายให้แต่ละมหาวิทยาลัยได้มาก โดยจำนวนเงินที่จะต้องใช้ก็ถือว่าไม่มากแค่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับงบกลางที่รัฐบาลมีอยู่ 2-3 แสนล้านบาท” รศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าว
(เดลินิวส์, 27-8-2556)
สงครามแย่งพนง.แบงก์เดือด ลาออก 12%
นายสุรศักดิ์ ดุษฎีเมธา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การแข่งขันแย่งทรัพยากรบุคคลระหว่างธนาคารพาณิชย์ มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีอัตราการลาออกของพนักงาน 12% เพิ่มขึ้นจากช่วง 2-3 ปีก่อนที่มีอัตราการลาออกเพียง 4-5%
จากการทำสำรวจทางโทรศัพท์ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เทียบกับธนาคารแห่งอื่น พบว่า ธนาคารกสิกรไทยมีอัตราการลาออก 8.45% รองจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่มี 8.80% ธนาคารไทยพาณิชย์ 7.02% ส่วนธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงไทยอยู่ที่ 5% และ 1.47% ตามลำดับ ด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นยุทธศาสตร์หลัก
“การแข่งขันที่เกิดขึ้นอยู่ในสายงานที่ธนาคารมีความแข็งแกร่งค่อนข้าง มาก เช่น สายงานเอสเอ็มอีที่โดนค่อนข้างมาก รวมถึงสายงานสร้างรายได้อื่นๆ เช่นเจ้าหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า รวมถึงงานด้านต่างประเทศที่มีความขาดแคลน โดยพนักงานบางรายได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 50% 80% หรือบางคน 100% จนเริ่มต้องคิดว่า การแย่งคนไปมา จะทำให้ต้นทุนสูงกว่าศักยภาพพนักงานหรือไม่ ซึ่งกลไกที่เกิดขึ้นนี้ไม่รู้จะไปถึงไหนและจะหยุดยังไง”
ธนาคารมีความสามารถแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคล โดยได้ปรับการรับพนักงานเช่นกัน ตอบรับผลการรับสมัครได้ภายใน 3 วันทำการ รวมถึงการจ่ายผลตอบแทนให้กับพนักงาน ที่ผ่านมาธนาคารได้ปรับขึ้นผลตอบแทนแรกเข้า 2 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายขึ้นค่าครองชีพสำหรับผู้จบปริญญาตรี โดยเดือนส.ค.นี้ เพิ่งมีการปรับขึ้นไปสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีใกล้ระดับ 14,500 บาท ไม่รวมค่าครองชีพอีก 2,500 บาท และโบนัสที่จะขึ้นกับผลประกอบการ ซึ่งจะขึ้นกับวุฒิการศึกษาว่า จบจากสถาบันใด สาขาใด ซึ่งรวมแล้วจะสูงกว่า 15,000 บาทแน่นอน ซึ่งธนาคารบางแห่งได้ปรับแล้วเช่นกัน
เขากล่าวว่า จำนวนพนักงานธนาคาร ณ เดือนก.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 19,000 คน เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2555 ที่มี 17,404 คน และจากในอดีตหลังวิกฤติเศรษฐกิจธนาคารมีพนักงาน 11,253 คน สิ้นปี 2549 และเริ่มเพิ่มจำนวนหลังจากนั้นมากกว่า 50% อยู่ตามสาขาของธนาคาร เพราะบุคลากรที่เพิ่มขึ้น จะล้อไปกับจำนวนสาขาของธนาคารที่เริ่มขยายเพิ่มตั้งแต่ปี 2550 สิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา มีสาขา 850 แห่ง จากปีก่อนที่มี 846 แห่ง และจากสิ้นปี 2549 ธนาคารมีสาขา 582 แห่งทั่วประเทศ โดยแต่ละปีอัตราการรับพนักงานใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงปี 2553-2554 ปีละ 3,000 คน ปีนี้ธนาคารต้องการรับพนักงานเพิ่มถึง 4,500 คน โดย 30% เพื่อรองรับปริมาณงานใหม่ที่เพิ่มขึ้น และอีก 70% เพื่อรองรับพนักงานที่ลาออกไป แต่ความสามารถในการรับได้จริงอยู่ที่ 90% ของความต้องการ
ขณะที่โครงสร้างพนักงานเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยสิ้นปี 2555 สัดส่วนพนักงานชายมีอยู่ 40% ลดลงจากปี 2543 ที่มีกว่า 70% ด้านอายุพนักงานปัจจุบันพนักงานมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยสัดส่วนใหญ่ที่สุดอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปีคิดเป็น 38% เทียบในอดีตที่มี 18% ทำให้สัดส่วนพนักงานที่อยู่ในรุ่น Generation Y มีสัดส่วนกว่า 53% ตามมาด้วย Generation X คิดเป็น 30% ที่เหลือเป็นรุ่น Baby Boom เทียบกับในปี 2543 ที่สัดส่วน Generation X คิดเป็น 54% และรุ่น Baby Boom อีก 45% ปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนรุ่นใหม่หรือ Generation Y ที่เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น จะมีความคิดอ่านเป็นของตัวเองสูงมาก และจงรักภักดีน้อยกว่าคนรุ่นเก่า การบริหารงานบุคคลรุ่นนี้จึงต้องให้งานที่ท้าทาย ให้การยกย่องเชิดชู รวมถึงผลตอบแทนที่แข่งขันได้
ส่วนพนักงานต่างชาติปัจจุบันมี 50 คน เพื่อรองรับงานทางด้านธุรกิจต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นไปตามการเข้าสู่เออีซี เช่นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงอินเดีย ต้องขยายจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีศักยภาพการทำงาน การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นได้โดยไม่เสียหลักการ ส่วนหนึ่งธนาคารมีพนักงานแลกเปลี่ยนในสถาบันการเงินที่ธนาคารเป็นพันธมิตร อยู่ในต่างประเทศ
ปัจจัยที่มีผลต่องานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของธนาคาร จะสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งการแข่งขันที่เกิดขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ ความต้องการลูกค้าเทคโนโลยีและความเสี่ยง โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่ทำให้มีทรัพยากรบุคคลเกิดการขาดแคลนโดยเฉพาะพนักงานที่มีศักยภาพ เกิดการแข่งขันด้านราคา ความเสี่ยงจึงอยู่ที่การรักษา และสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอยู่ทำงานต่อ และยอมรับการหมุนเวียนของพนักงานเข้าออก ทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องการรั่วไหลของข้อมูล ความรู้ในงานนั้นๆ ธนาคารจึงต้องสร้างฐานข้อมูลมารองรับ
(กรุงเทพธุรกิจ, 27-8-2556)
โคราชจัดนัดพบแรงงานไปต่างประเทศ เผยไทยแห่ไปเกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล
(28 ส.ค.) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ถ.สืบศิริ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายอิทธิ คงวีระวัฒน์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงานวันนัดพบศูนย์ประสานบริการการไปทำงานต่างประเทศ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีแรงงานไทยในพื้นที่นครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจเข้ามาติดต่อสมัครงานไปทำงานต่างประเทศจำนวน มาก
นายอิทธิกล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานไทยที่สนใจและมีความประสงค์จะเดิน ทางไปทำงานยังต่างประเทศได้สมัครงานกับนายจ้างที่เป็นตัวแทนโดยตรงโดยไม่ ผ่านสายหรือนายหน้า ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของคนหางานที่ประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ รวมถึงเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากสายหรือนายหน้าเถื่อน และเป็นการลดขั้นตอนในการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่าปัจจุบันแรงงานไทยสนใจเดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิสราเอลมากขึ้น เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีค่าตอบแทนให้แรงงานสูงกว่าประเทศอื่นๆ คือไม่น้อยกว่าเดือนละ 40,000 บาทขึ้นไป
นายอิทธิกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยกิจกรรมภายในงานนั้นรัฐได้นำบริษัทจัดหางานทั้งในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียงกว่า 20 บริษัท มีตำแหน่งงานต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น บรูไน และประเทศอื่นๆ ในแถบตะวันออกกลาง ที่ผ่านการอนุมัติจากกรมการจัดหางานแล้วมากกว่า 1,000 อัตรา มาเปิดรับสมัครงานไปทำงานต่างประเทศกับแรงงานโดยตรง
ทั้งนี้ พร้อมกับประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้บริการควบคู่ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดนครราชสีมา มาให้บริการการขอสินเชื่อไปทำงานต่างประเทศ, กรมการกงสุล มาให้บริการทำหนังสือเดินทาง, โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มาให้บริการตรวจสุขภาพก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ รวมถึงสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ที่มาฝึกอาชีพให้แก่ผู้ที่สนใจด้วย
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-8-2556)
ผู้บริหารองค์การสวนสัตว์ฯ แจงยังไม่สรุปโอนสวนสัตว์เชียงใหม่-ยันไป “พิงคนคร” ก้าวหน้าแน่
ผู้บริหารขององค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ระบุว่า ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งยืนยันว่าหากมีการโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานใหม่ สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่พนักงานและลูกจ้างได้รับนั้นจะดีกว่าที่ได้รับ จากองค์การสวนสัตว์ฯ อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารขององค์การสวนสัตว์ฯ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไป สังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร โดยระบุเพียงว่ามีหน้าที่บริหารงานองค์การสวนสัตว์ตามนโยบายที่ทางรัฐบาลมอบ หมาย
การเปิดเผยของผู้บริหารองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์เกี่ยวกับ กรณีการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนครในครั้งนี้ มีขึ้นภายหลังจากที่ผู้บริหารองค์การสวนสัตว์ฯ เสร็จสิ้นการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นพนักงานและลูกจ้างเกี่ยวกับการโอน ย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่มาสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ (28 ส.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคารโสภณ ดำนุ้ย สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยมีพนักงานและลูกจ้างของสวนสัตว์เชียงใหม่ประมาณ 300 คนเข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุมซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงเสร็จสิ้นลง นายวีรวัฒน์ ยมจินดา กรรมการองค์การสวนสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อรับฟังความเห็นของพนักงานและผู้มีส่วน เกี่ยวข้องของสวนสัตว์เชียงใหม่ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการมารับฟังข้อสงสัยและข้อห่วงใยที่พนักงานและลูกจ้าง ของสวนสัตว์เชียงใหม่มีต่อกรณีการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปสังกัดสำนักงาน พัฒนาพิงคนคร
จุดยืนและข้อเรียกร้องต่างๆ ที่มีการนำเสนอในวันนี้ จะได้นำเสนอต่อที่ประชุมของคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ฯ ในการประชุมครั้งต่อไป และหลังจากคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป
นายวีรวัฒน์กล่าวว่า จนถึงขณะนี้คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ฯ ยังไม่มีข้อสรุปหรือการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับกรณีการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา คงจะต้องรอให้คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ดำเนินการในส่วนนี้ให้เสร็จสิ้นเสีย ก่อน โดยข้อเรียกร้องของพนักงานและลูกจ้าง รวมถึงข้อห่วงใยที่คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์เคยเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีก็จะ ถูกนำมาพิจารณาด้วย
ส่วนข้อสรุปว่าจะมีการโอนย้ายเกิดขึ้นหรือไม่นั้น นายวีรวัฒน์กล่าวว่าในขณะนี้คงจะยังไม่มีความชัดเจนอะไร เพราะต้องรอให้คณะกรรมการสวนสัตว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรีพิจารณาไปตามลำดับ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ว่าจะมีข้อสรุปออกมาในทิศทางใด
ในส่วนของข้อมูลและความคิดเห็นจากพนักงานและลูกจ้างนั้นก็ได้รับฟังเป็น จำนวนมากแล้วในการประชุมวันนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ตามหลักการองค์การสวนสัตว์ฯ ซึ่งทำงานอยู่ภายใต้รัฐบาลก็คงจะปฏิเสธได้ยาก
อย่างไรก็ตาม นายวีรวัฒน์กล่าวว่า จากการศึกษาโครงสร้างการบริหารงานของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เห็นว่าในส่วนของพนักงานจะไม่มีการสูญเสียผลประโยชน์ที่เคยได้รับแต่อย่างใด อีกทั้งยังจะได้รับสวัสดิการและผลประโยชน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิมด้วย ทำให้กล้ายืนยันในการประชุมว่าคณะกรรมการพร้อมจะลาออกหากพนักงานและลูกจ้าง เสียประโยชน์
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาโครงสร้างการบริหารงานใหม่ของสำนักงานพัฒนาพิงคนครแล้ว ยังพบว่าจะมีการนำงบประมาณเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะช่วยให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
ด้านนายสัญชัย จุลมนต์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวว่า กรณีการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนครนั้น นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบแนวทางเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนว่าให้องค์การสวน สัตว์ฯ ได้สรุปข้อดีข้อเสียของการโอนย้าย แล้วนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อนำไปพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิด จนกระทั่งมีการทำหนังสือมาในช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งทางองค์การสวนสัตว์ฯ ก็ได้รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอ รวมไปถึงข้อห่วงใยต่างๆ เสนอต่อคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยในการสอบถามและพิจารณานั้นก็ไม่ได้มีการกำหนดทิศทางจากรัฐบาลว่าต้องการ ให้เป็นไปในลักษณะหนึ่งลักษณะใดแต่อย่างใด
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีดังกล่าว นายสัญชัยกล่าวว่า ในฐานะที่องค์การสวนสัตว์ฯ เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม โดยหลักการจึงต้องบริหารงานตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นหากนโยบายนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ตนในฐานะหัวหน้าองค์กรก็มีหน้าที่จะต้องทำตามแนวนโยบายของรัฐบาล แต่ในท้ายที่สุดแล้วเรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะ ดำเนินการในทิศทางใด
รายงานข่าวแจ้งว่า บรรยากาศการประชุมซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงนั้นเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยกลุ่มพนักงานและลูกจ้างของสวนสัตว์เชียงใหม่ได้สอบถามและชี้แจงข้อกังวล ในหลายๆ ด้าน และแม้จะมีการชี้แจงและรับรองจากฝ่ายผู้บริหาร ว่าหากมีการโอนย้ายเกิดขึ้นสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่พนักงานส่วนมากก็ยังคงยืนยันท่าทีตามจุดยืนเดิมที่ไม่ต้องการโอนย้ายไป สังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-8-2556)
ช็อก 5 ล้านคนถูกเบี้ยวค่าแรง 300 อีสานแชมป์-กระทรวงแรงงานจี้เช็กบิล
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศพบว่า ยังมีแรงงานกว่า 5.5 ล้านคนทั่วประเทศที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในจำนวนนี้พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคนกระจายอยู่ใน 10 จังหวัดแรก ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
"ในจำนวน 5.5 ล้านคนนี้ จะมีทั้งแรงงานในไซต์ก่อสร้างกับลูกจ้างที่มีเงินเดือน หรือ wage employee ทั้งหมด"
ขณะเดียวกัน สำหรับภาคก่อสร้างนั้น ภาพรวมตลาดแรงงานทั่วประเทศมีแนวโน้มที่แรงงานจะเข้าสู่ภาคก่อสร้างน้อยลง มาจาก 4 สาเหตุหลัก คือ 1)แรงงานก่อสร้าง 60% เป็นแรงงานที่มีการศึกษาต่ำ และการออกนโยบายสนับสนุนการศึกษาของรัฐบาลส่งผลให้ผู้จบการศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาหรือต่ำกว่าลดน้อยลง ดังนั้นโอกาสที่จะมีแรงงานใหม่เข้ามาในภาคก่อสร้างจึงน้อยลงเรื่อย ๆ
2)งานก่อสร้างจัดอยู่ในกลุ่ม 4D คือ เป็นงานหนัก ยากลำบาก อันตราย สกปรก และด้อยศักดิ์ศรี แรงงานจึงหันไปทำงานในเซ็กเตอร์อื่นซึ่งได้รับค่าจ้างพอ ๆ กันแต่มีเนื้องานไม่หนัก เช่น โรงงานหรือบริการ 3)งานก่อสร้างเป็นงานที่มีอนาคตจำกัด ขาดความมั่นคงในอาชีพ อัตราการเข้า-ออกงานสูง และ 4)ขาดแรงจูงใจเพราะได้รับค่าแรงขั้นต่ำไม่ถึง 300 บาทดังกล่าว
"ปัจจุบันมีแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 2.8 ล้านคน เป็นแรงงานไทย 2.2 ล้านคน แต่แรงงานไทยจะมีความผันผวนตามฤดูกาล เช่น หน้าเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร แรงงานจะคืนถิ่นทำให้ขาดตลาด เป็นต้น"รศ.ดร.ยงยุทธกล่าว
นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่ เป็นคู่สัญญากับภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กับปัญหาแรงงานขาดแคลนหนัก
1)ขอให้ภาครัฐปรับลดค่าเค จากบวก-ลบ 4% เป็นบวก-ลบ 2% เป็นการชั่วคราว เนื่องจากเงื่อนไขค่าเค 4% นั้น ถ้าต้นทุนผันผวนไม่เกิน 4% เอกชนที่เป็นคู่สัญญาจะต้องเป็นผู้แบกรับไว้เอง แต่ถ้าเกิน 4% รัฐจึงจะชดเชยส่วนต่างโดยหักลบจาก 4% ดังนั้นจึงอยากให้ลดเพดานค่าเคเหลือ 2%
2)ขอให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเสรีทั่วประเทศ หรือขอให้แรงงานต่างด้าวทำงานข้ามเขตได้ 3)ขอขยายอายุสัญญาก่อสร้างภาครัฐเป็น 180 วัน 4)ขอให้หน่วยงานราชการใช้ค่าปรับรายวันในอัตราตายตัวร้อยละ 0.01 และ 5)ขอให้ผู้รับเหมาสามารถประกันผลงานของตนเองได้ เมื่อทำงานผ่านไปแล้ว 6 เดือน โดยไม่ต้องมีแบงก์การันตี
"ตอนนี้เราอยากได้ความช่วยเหลือจากรัฐมากที่สุด คือ เรื่องการขยายเวลาก่อสร้าง 180 วัน เพราะตอนนี้มีสัญญาหลายงานที่สร้างเสร็จไม่ทันเวลาที่หน่วยงานคู่สัญญากำหนด เพื่อไม่ให้เสียค่าปรับ"
ขณะเดียวกันมีข้อเสนอแนะว่า หากจะให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่ได้ในภาวะนี้
สิ่งที่จะต้องเร่งปรับตัวมี 2 ทางเลือก คือ 1.ใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น 2.หันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อลดการใช้แรงงาน
นายวัฒนวุฒิ พิทยาวัฒน์ ผู้รับเหมารายย่อยในเขตภาคใต้ กล่าวสอดคล้องกันว่า มีผู้รับเหมาบางรายไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือไม่สามารถจ่ายค่าปรับได้ ทำให้ผู้รับเหมาเหล่านี้ยอมทิ้งงาน และบางรายถึงกับต้องปิดกิจการไป
รศ.ดร.ยงยุทธกล่าวเพิ่มเติมว่า สถิติในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน 2556) มีผู้ประกอบการรับเหมาแจ้งขอปิดกิจการไปยังกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 576 ราย มูลค่าปิดกิจการ 902 ล้านบาท ขณะที่มีการแจ้งขอ "จดลดทุน"หรือจดแจ้งเพื่อขอลดทุนจดทะเบียน จำนวน 172 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนที่ลดลง 8,355 ล้านบาท แสดงถึงภาวะวิกฤตของผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
โดยประเมินว่ากลุ่มที่ขอปิดกิจการจะเป็นกลุ่มรับเหมารายเล็ก ขณะที่กลุ่มที่แจ้งขอจดลดทุนเป็นเพราะผลประกอบการไม่สอดคล้องกับจำนวนทุนจด ทะเบียน ซึ่งจะมีผลต่อการจัดทำรายงานทางบัญชี และต้องการสภาพคล่องไปดำเนินธุรกิจ จึงต้องมาแจ้งขอจดลดทุนดังกล่าว โดยถือว่าเป็นสถิติที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ
นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เปิดเผยว่า สำหรับงานประมูลภาครัฐที่ผู้รับเหมาได้ทำสัญญาไว้ก่อนหน้าที่จะมีการปรับ ขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสัญญาของภาครัฐมีความยืดหยุ่นน้อย ประกอบกับค่าเค (ต้นทุนผันแปร) ไม่ครอบคลุมถึงต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น
"ขณะนี้มีผู้รับเหมาหลายรายไม่ยอมประมูลงานรัฐ เพราะราคาประมูลที่หน่วยราชการประกาศออกมาไม่สามารถดำเนินการได้ โดยรวมแล้วผู้ประกอบธุรกิจก่อสร้างอยู่ในภาวะที่ไม่ว่าจะมีงานหรือไม่มีงาน ก็มีโอกาสที่จะเจ๊งได้ทั้งสองกรณี"นายกฤษดากล่าว
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ"ว่า ทางกระทรวงแรงงานยังไม่ได้รับรายงานเรื่อง 10 อันดับแรกของจังหวัดที่ไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 แต่เท่าที่มีข้อมูลยังไม่เคยพบข้อร้องเรียนดังกล่าว
"หากพบข้อมูลจริงคงจะต้องตรวจสอบ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลประกาศใช้ให้สถานประกอบการทุกแห่ง ทั่วประเทศต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท หากตรวจสอบแล้วพบว่าสถานประกอบการใดที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษตาม กฎหมาย โดยเราจะมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งตรวจสอบ และดำเนินการอย่างรวดเร็ว"นายประวิทย์กล่าว
(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 29-8-2556)
สมัครงานล้นตำแหน่ง 163% จบปริญญาตกงานอื้อ
สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายงานสถานการณ์และการเตือนภัยด้านแรงงานประจำไตรมาส 2 ระบุว่า ไตรมาสดังกล่าวมีอัตราการว่างงานต่อกำลังแรงงานอยู่ที่ 0.77% โดยมีตำแหน่งงานว่าง 1.38 แสนอัตรา มีผู้สมัครงาน 2.26 แสนคน ซึ่งเมื่อเทียบอัตราผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างแล้วอยู่ที่ 163.4% ขยายตัวจากไตรมาสแรกที่ผ่านมาซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 119.9% หรือเพิ่มขึ้น 36.28%
นอกจากนี้ หากเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2555 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 121.12% แล้ว เท่ากับไตรมาส 2 ของปีนี้ อัตราผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างขยายตัวเพิ่มขึ้น 34.9%
ขณะเดียวกันเมื่อดูข้อมูลย้อนหลังจากไตรมาส 4 ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ตัวเลขผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 163.4% เป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยสูงกว่าไตรมาส 4 ปี 2554 ซึ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เสียอีก เพราะขณะนั้นผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างอยู่ที่ 150.56%
ทั้งนี้ ภูมิภาคที่มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 205.25% รองลงมา คือ กรุงเทพมหานคร 197.19% ภาคใต้ 183.46% ภาคเหนือ 154.47% และภาคกลาง 131.57%
อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลขอัตราการบรรจุงาน โดยดูจากอัตราการบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่าง พบว่าการบรรจุงานในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 38.18% แต่ติดลบ 6.11% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันหากดูจากอัตราการบรรจุงานต่อจำนวนผู้สมัคร พบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1.39% แต่ติดลบ 30.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา
รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ในส่วนของอัตราการว่างงานต่อกำลังแรงงานอยู่ที่ 0.77% นั้น มีสัดส่วนเพศชายว่างงานมากกว่าเพศหญิง โดยชายว่างงานที่ระดับ 0.83% ขณะที่เพศหญิงว่างงาน 0.69%
นอกจากนี้ หากจำแนกตามระดับการศึกษา ระดับอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานสูงสุด 40.43% รองลงมา คือ มัธยมปลาย 19.24% มัธยมต้น 18.70% ประถมศึกษา 14.32% ต่ำกว่าประถมศึกษา 4.77% และไม่มีการศึกษา 2.54%
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวถือว่ามีจำนวนไม่มากอยู่ในหลักแสนคน ซึ่งคนกลุ่มคนที่มาแสดงตัวกับกรมการจัดหางานส่วนใหญ่จะมีการศึกษาระดับ ปริญญา และเมื่อดูจำนวนผู้สมัครแล้วต้องดูจำนวนการบรรจุงานควบคู่ไปด้วยว่าบรรจุได้ เท่าใด ส่วนที่เหลือคือคนที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง (Mismatch)
นายยงยุทธ กล่าวว่า ตัวเลขการบรรจุงานที่ลดลงหากเทียบแบบปีต่อปี อาจเป็นเพราะมีคนที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่นายจ้างต้องการมากขึ้น หรืออีกด้านอาจเป็นเพราะนายจ้างมีตำแหน่งงานรับสมัครน้อยลง ทำให้เหลือคนที่ไม่ได้บรรจุงานมากขึ้น ซึ่งจะต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง
(โพสต์ทูเดย์, 30-8-2556)
กกจ.เผยแรงงานไทยในซีเรีย ทำงานในพื้นที่ปลอดภัย
(30 ส.ค.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซีเรียว่า ขณะนี้ไม่มีแรงงานไทยอยู่ในประเทศซีเรียแล้ว และไม่ได้มีการจัดส่งแรงงานไทยไปซีเรียนานแล้ว ส่วนกรณีที่ประเทศอิสราเอลแจกหน้ากากป้องกันสารพิษให้แก่ประชาชนนั้น ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอล 2.2 หมื่นคน จากที่ประเทศไทยได้รับโควตาจากอิสราเอลทั้งหมด 2.4 หมื่นคน ส่วนใหญ่ไปทำงานด้านเกษตร โดย กกจ.เตรียมจะจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานเพิ่มเติมอีก 2 พันคน ซึ่งเป็นการจัดส่งโดยผ่านระบบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับอิสราเอล และไม่เสียค่าบริการ แต่เสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเดินทางรวมแล้วไม่เกินคนละ 7.5 หมื่นบาท
“ขณะนี้ กกจ.ไม่ได้มีการระงับการจัดส่งแรงงานไทยไปอิสราเอล เนื่องจากยังไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ เพราะสถานการณ์ในอิสราเอลยังเป็นปกติ ส่วนแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลก็ทำงานอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย สถานที่ทำงานไม่ได้ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนซึ่งเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อความไม่ ปลอดภัย รวมทั้งนายจ้างก็ได้มีหน้ากากป้องกันสารพิษไว้ให้แรงงานไทยด้วยเช่นกัน” อธิบดี กกจ.กล่าว
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-8-2556)
ก.แรงงานเปิดตัว e-Smart Boxให้บริการประชาชน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 2 กันยายน ที่กระทรวงแรงงาน นายพลูศักดิ์ เศรษฐนันท์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวเปิดตัว ระบบ e-Smart Box เพื่อให้บริการประชาชน ณ ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงาน 48 แห่ง ใน 46 จังหวัดและ 2 เขตในกรุงเทพมหานคร ว่าระบบ e-Smart Box นี้ให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารด้านแรงงาน บริการรับเรื่อง ส่งต่อกรณีต้องได้รับการพิจารณาหรือวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญ และบริการเบ็ดเสร็จ ผู้รับบริการไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มการขอรับบริการ ทั้งในกรณีที่มีบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดและไม่มี เพื่อลดระยะเวลาการรับบริการ โดยมีองค์ความรู้ในการให้บริการประชาชนที่ทันสมัย สืบค้นง่าย จัดเก็บข้อมูลและผลการให้บริการเพื่อติดตามด้วยระบบสารสนเทศ และมีเอกสารยืนยันผลการให้บริการ (Mol Slip : ใบเสร็จการให้บริการ) มอบให้ผู้รับบริการไว้เป็นหลักฐาน
สำหรับระบบ e-Smart Box มีขึ้นเพื่อให้บริการประชาชน 2 ระบบ คือ ระบบสนับสนุนการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งเป็นระบบเพื่อการสืบค้นข้อมูล มี 624 รายการ เช่น คำถามและคำตอบที่พบบ่อย รวมทั้งองค์ความรู้ต่างๆ ที่จัดเก็บในรูปของประกาศ กฎ ระเบียบ พ.ร.บ.ด้านแรงงานต่างๆ และระบบการให้บริการ ณ ศูนย์รับบริการร่วมกระทรวงแรงงาน เป็นระบบเพื่อบริหารจัดการ ซึ่งเก็บข้อมูลการให้บริการ จัดทำสถิติ/รายงานและประเมินผลความพึงพอใจการให้บริการ เป็นต้น
(มติชนออนไลน์, 2-9-2556)
แรงงานจี้บอร์ดค่าจ้างทบทวนมติคงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท คงที่ 3 ปี
กรุงเทพฯ 2 ก.ย.-คสรท. จี้บอร์ดค่าจ้างทบทวนมติที่กำหนดเงื่อนไขว่าหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศแล้วจะไม่มีการปรับค่าจ้างอีก 3 ปี หรือจนถึงปี 58
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า แม้ปัจจุบันผู้ใช้แรงงานจะมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อสภาวการณ์ในปัจจุบันที่อัตราค่าครองชีพสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าทางด่วน ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ดังนั้น จึงมองว่าคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ควรทบทวนมติเดิมที่กำหนดเงื่อนไขว่าหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศแล้วจะไม่มีการปรับค่าจ้างอีก 3 ปี หรือจนถึงปี 2558
ขณะเดียวกันพบว่ามติดังกล่าวยังไม่มีการบังคับใช้ในทุกบริษัท เพราะบางบริษัทยังไม่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ให้กับลูกจ้าง อีกทั้งขณะนี้ คสรท. ได้รวบรวมข้อเท็จจริง พร้อมลงพื้นที่ออกสำรวจผลกระทบค่าครองชีพ ความต้องการเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในหลายๆ พื้นที่ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบว่าค่าจ้างกับค่าครองชีพมีความสมดุลมากน้อยเพียง ใด
(สำนักข่าวไทย, 2-9-2556)