Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

พิพาดา ยังเจริญ: เปิดตัวหนังสือ 'ประวัติศาสตร์เกาหลีฯ'

$
0
0

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้อง 401/18 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนา"มุ่งตะวันออก: ความสำคัญของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกในยุคศตวรรษที่ 21"เพื่อเป็นการเปิดตัวหนังสือ "ประวัติศาสตร์เกาหลี: ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 การแข่งขันและแทรกแซงจากต่างชาติ อาณานิคม และชาตินิยม"ผลงานของ รศ.พิพาดา ยังเจริญ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี อ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ

โดยตอนหนึ่งผู้ดำเนินรายการถามว่า ทำไมจึงเลือกประวัติศาสตร์เกาหลีช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นหลักในการนำเสนอ โดยอาจารย์พิพาดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสอนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกซึ่งรวมทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยแต่เดิมเวลาสอนเรื่องเกาหลี จะมีตำราที่เกี่ยวข้องน้อยมาก ตำราที่มีอยู่ยังไม่สามารถให้ภาพรวมของประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 20 จึงคิดว่าต้องเขียนประวัติศาสตร์เกาหลีสักเล่ม โดยที่เลือกช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์เกาหลี เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คือช่วงปลายราชวงศ์โชซ็อน เป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองเกาหลี และเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในปลายราชวงศ์โชซ็อน โดยสังคมเกาหลีค่อนข้างอนุรักษ์นิยม และเน้นลัทธิขงจื้อ แต่ในปลายสมัยราชวงศ์โชซ็อนมีการเปลี่ยนแปลงทั้งการเมืองในราชสำนัก มีการเปลี่ยนแปลงในชนชั้นของพวกยางบัน ซึ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครอง นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ในสังคมเกาหลี เช่น กลุ่มชีฮัก ซอฮัก ทงฮัก ซึ่งมีแนวคิดแตกต่างกัน ทั้งที่นิยมตะวันตก หรือเน้นความเป็นเกาหลี นอกจากนี้มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มีการค้าขายมากขึ้น ซึ่งทำให้เปลี่ยนสถานะของคนในสังคม

ที่สำคัญมีการเข้ามาของชาวต่างชาติในปลายสมัยราชวงศ์โชซ็อน ทั้งอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นในช่วงปลายราชวงศ์โชซ็อนเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีเปิดประเทศต่อไป เมื่อมีแรงกดดันมาจากต่างชาติ นำมาสู่การปฏิรูปประเทศ ซึ่งการปฏิรูปนี้ได้นำเอาคนต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลในเกาหลี เพราะเกาหลีในเวลาที่มีการปฏิรูปยังมีความแตกต่างกันทางความคิดของชนชั้นยังบันต่างๆ มีทั้งการปฏิรูปตามแนวจีน ตามแนวญี่ปุ่น และต่อมารัสเซียก็เข้ามามีอิทธิพล ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง เกิดมีความพยายามในการแก้ปัญหาต่างๆ

นอกจากนั้น การเข้ามาแทรกแซงของต่างชาติก็เป็นไปอย่างรุนแรง ทั้งจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และต่อจากนั้นความอ่อนแอในราชสำนักและการแทรกแซงจากต่างชาติจึงนำมาสู่การล่มสลายของระบบกษัตริย์ เกาหลีกลายเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น และในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคม ก็เกิดกลุ่มที่มีแนวคิดชาตินิยมขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอกราช และเมื่อต่อสู้จนได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีก็แตกออกเป็น เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้อีก ดังนั้นในช่วงเวลารอบ 100 ปี มีอะไรเกิดขึ้นมากมายในเกาหลี เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ซึ่งถ้าศึกษาตรงนี้ก็จะมีความเข้าใจว่าทำไมจึงมีปัญหามากในเกาหลี ทำไมจึงมีความแตกแยกมาก แล้วทำไมเวลาได้เอกราชมาแล้วจึงกลายเป็นเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ เพราะปัจจัยเรื่องมหาอำนาจก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ปัจจัยที่อยู่ภายในเกาหลีก็เป็นสาเหตุหนึ่งด้วย ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือกศึกษาประวัติศาสตร์เกาหลีในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นตำราสำหรับอ่านประกอบ ทำให้คนอ่านมองเห็นเรื่องต่างๆ อย่างรอบด้าน คงไม่ใช่การเจาะลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือลงในรายละเอียด แต่เป็นการปูพื้นฐานให้อ่านแล้วเข้าใจในเรื่องนี้ เพื่อที่จะเชื่อมโยงหรือศึกษาอย่างลึกซึ้งต่อไป

ส่วนแนวโน้มการศึกษาประวัติศาสตร์เกาหลีและเอเชียตะวันออกในประเทศไทยนั้น อาจารย์พิพาดากล่าวว่า เห็นด้วยกับที่วิทยากรในวงเสวนาก่อนหน้านี้ที่ว่าคนสนใจเรื่อง K-Pop มาก มีความสนใจเรื่องภาพยนตร์ ดนตรี มีการศึกษาว่าทำไม K-Pop ได้รับความนิยม แต่ยังไม่มีผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้วมีเรื่องน่าสนใจมากในประวัติศาสตร์เกาหลีที่เรายังไม่รู้ มีเรื่องที่รอการศึกษาอย่างลึกซึ้งอีกมาก ปัญหาอยู่ที่การรู้ภาษาเพื่อที่จะได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง โดยที่ตอนนี้ก็มีการตื่นตัวศึกษาภาษาเกาหลี หากมีการเพิ่มความสนใจไปสู่การศึกษาประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นเรื่องน่าศึกษาเยอะ และในวงวิชาการไทยก็ยังไม่มีผู้ศึกษา เป็นคุณูปการทีเดียว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles