ชาวนาเห็นความสำคัญต่อการจัดการระบบน้ำ และค้นหาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มาปลูก พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ภาคใต้มากที่สุดคือ “ข้าวเล็บนก” ข้าวพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมของภาคใต้
วันนี้ (30สิงหาคม 2556) “งานสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืน” เป็นเวทีวันที่ 2 ของงาน ที่จัดขึ้น ณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) จังหวัดนครปฐม รูปแบบเวทีเสวนาวันนี้ถูกแบ่งออกเป็น 5 ห้องย่อย 5 ประเด็น ห้องย่อยที่ 1 เปิดประเด็นให้วิทยาการได้ช่วยกันถกในหัวข้อ “นวัตกรรมการทำนาสู่วิถีนาข้าวที่ยั่งยืน” ซึ่งจะแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันถึงวิถีการทำนาในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนภายใต้นิเวศน์ที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
ดาวเรือง พืชผล ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธรให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า “นวัตกรรมที่ว่านี้ ต้องเริ่มจากการสร้างและจัดการที่ดินของตนเองให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้มากที่สุด การสร้างและการจัดการที่ดินที่ว่านี้ แบ่งเป็น 3 อย่างคือ 1.การจัดการดูแลตัวเองให้มีกิจกรรมทางการผลิตบนแปลงอย่างสม่ำเสมอ 2.การจัดการพืชผลทางการเกษตรในแปลงนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับฤดูกาลและสภาพอากาศ 3.การจัดการให้แปลงนามีความหลากหลายของชนิดพืช ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้หมายความว่าจะพืชเศรษฐกิจไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การปลูกอ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ เราก็สามารถปลูกอ้อยและทำให้เป็นอ้อยอินทรีย์ได้ นอกจากนี้แล้วเรายังต้องมีเวลาให้กับแปลงเกษตรของตนเองอย่างเต็มที่”
ประเด็นทิ้งท้ายที่ดาวเรืองเน้นย้ำก็คือ “การรักษาและการค้นหาสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในแต่ละพื้นที่ ในประเด็นนี้เครือข่ายเกษตรกรรมฯ ภาคอีสานได้มีการทดลองปลูกข้าวเบา(ข้าวที่ให้ผลผลิตเร็ว) 20 สายพันธุ์ เพื่อค้นหาสายพันธุ์ข้าวที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีที่สุดในพื้นที่นาโคก จนพบว่า หนึ่งใน 2 สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและเจริญเติมโตได้ดีที่สุดก็คือข้าวสายพันธุ์ที่เรียกเป็นภาษาพื้นถิ่นอีสานว่า ‘ข้าวดอหาฮี’ “
สุมณฑา เหล่าชัย ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า “ประสบการณ์การทำเกษตรแผนใหม่ซึ่งประสบความล้มเหลว จนต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต แต่เริ่มจากการรวมกลุ่มแล้วเริ่มค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ สิ่งสำคัญที่กลุ่มทำก็คือเรื่องเมล็ดพันธุ์ และประเด็นผู้บริโภค สิ่งที่ทิ้งไม่ได้เลยก็คือเรื่องกลุ่มหรือเครือข่าย ต้องทำไปพร้อมๆ กันจึงจะเกิดพลัง“
สุมณฑา ยังทิ้งท้ายถึงวีการจัดการจัดการแปลงของตนเองก็คือ “ประเด็นแรก เกษตรกรต้องมีพันธุ์พืชหรือมีเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง ประเด็นที่สอง ต้องคิดค้นวิธีการใหม่ๆในการจัดการแปลงนา ประเด็นสุดท้าย เกษตรกรต้องสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง”
สำรวย ผัดผล ตัวแทนเกษตรกรจากศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จ.น่านกล่าวว่า “นอกจากที่ทุกท่านว่ามาแล้ว ตัวเกษตรกรต้องประเมินตัวเองและครอบครัวให้ได้ว่า ใครคือเกษตรกรตัวจริง ใครมีส่วนในการทำให้ระบบเกษตรของครอบครัวมีความยั่งยืน เฉพาะตัวของพ่อแม่ เฉพาะผู้ใหญ่วัยทำงานหรือไม่ที่เป็นเกษตรกร หรือที่จริงแล้วหมายรวมถึงเด็กหรือลูกๆในครอบครัวด้วย ทั้งนี้เนื่องจากทุกคนมีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมครอบครัวให้มีความยั่งยืน “
พูลเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงประสบการณ์การทำเกษตรของตนเองว่า “ประสบการณ์การทำนาทีล้มเหลวในช่วงที่ผ่านมานั้น นำมาสู่การปรับเปลี่ยน ปรับปรุงการจัดการแปลงนาครั้งสำคัญ โดยการทดลอง เช่น การทดลองทำนาดำ นาหว่าน และนาหยอด เพื่อเปรียบเทียบว่า การปลูกข้าวแบบไหนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่แห้งแล้งอย่าง พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มากที่สุด จนที่สุดก็พบว่า ระบบข้าวหยอดให้ผลผลิตดีที่สุด”
ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้หันมาให้ความสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ และเป็นผู้ที่เริ่มรวมกลุ่มชาวนาคลองโยง(จ.นครปฐม)เพื่อทดลองทำนาอินทรีย์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันมากนักกับชาวนาภาคอื่นๆ ในช่วงเริ่มรวมกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ดร.ประภาส ให้ความเห็นเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า “ความสามารถที่สำคัญของชาวนาซึ่งควรจะมีคือ ความสามารถด้านช่าง ที่จะสามารถดัดแปลงอุปกรณ์การเกษตรเพื่อใช้ทุ่นแรงและลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย”
ธิดา คงอาสา ตัวแทนเกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จ.พัทลุงกล่าวถึงประเด็นเกษตรกรและชาวนาภาคใต้ว่า “ปัจจุบันจะเห็นว่าคนภาคใต้ทำนาน้อยลง ทั้งจำนวนผู้ทำนาและขนาดแปลงนา แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีชาวนาภาคใต้บางกลุ่มที่ยังทำนาอยู่ แต่ไม่ได้ทำนาเพื่อขายข้าว แต่เป็นการทำนาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนของครอบครัว”
ธิดา ยังกล่าวอีกว่า “พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่นาลอย คือเป็นพื้นที่ที่ระดับแปลงนาอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับน้ำ ดังนั้น พื้นที่ภาคใต้จึงเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำอย่างมาก เพราะเมื่อฝนตกน้ำจะไหลลงทะเลทั้งหมด ดังนั้น ชาวนาจึงเห็นความสำคัญต่อการจัดการระบบน้ำ และค้นหาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มาปลูก จากการทดลองปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้สรุปได้ว่า พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่มากที่สุดคือ “ข้าวเล็บนก” ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมของภาคใต้”
สุภชัย ปิติวุฒิ ตัวแทนกลุ่มชาวนาวันหยุด ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่องปรับเปลี่ยนแปลงเกษตรว่า “กลุ่มเป้าหมายของการทำงานก็คือคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สนใจทำนา เราตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เห็นความสำคัญและอยากจะกลับมาทำนา”
สุภชัย กล่าวในตอนท้ายว่า “สิ่งที่เราทำอยู่มาจากการเฝ้าดูและสังเกตสภาวะแวดล้อมของแปลงนาแต่ละพื้นที่ ว่าสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร แล้วทำนาให้ล้อกับสภาวะนั้นๆ เช่น ในแปลงนาที่มีผักตบชวา เลี้ยงปลาสลิด เนื่องจากปลาสลิดจะเป็นตัวทำลายรากของผักตบชวา”
ปฏิพัทธ์ จำมี ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน จ.สุรินทร์ ได้ให้ความสำคัญในประเด็นที่ดินและสารเคมีว่า “การปลูก การมี การอยู่ และการกิน ซึ่งต้องอยู่ให้ได้ ต้องมีรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว อย่างไรก็ตามที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เกษตรกรจะไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนหากไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตนเอง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai